‘เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ’ กระทบชีวิตชาติริมโขง
การดำเนินการของเขื่อนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงกำลังทำให้สภาพแวดล้อมเลวร้ายลงโดยเฉพาะในปีที่แห้งแล้งและขัดขวางการดำรงชีพสำหรับประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม
บรรดานักอุตุนิยมวิทยาในไทย คาดการณ์ว่า ปี 2562 จะเป็นปีที่แห้งแล้งที่สุดในรอบอย่างน้อย 10 ปี ในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างไทย กัมพูชา และเวียดนาม หลายฝ่ายต่างพุ่งเป้าโทษจีนและลาวที่ปิดเขื่อน 2 แห่ง จนส่งผลให้กระแสน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างฮวบฮาบ
กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน ชี้แจงเรื่องนี้ว่า เขื่อนจิงหงในมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของประเทศ จะลดการปล่อยน้ำลงครึ่งหนึ่งระหว่างวันที่ 5-19 ก.ค. เพื่อ “ซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้าของเขื่อน”
เดิมนั้น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ซึ่งมีสำนักงานในกรุงพนมเปญของกัมพูชา คาดการณ์ไว้ว่า การปิดเขื่อนจิงหงจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากฝนมรสุมมาถึงเร็วกว่าปกติ ทั้งนี้ เอ็มอาร์ซีมีกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามเป็นสมาชิก ขณะที่จีนและเมียนมาเป็นประเทศคู่เจรจา
อย่างไรก็ตาม เมื่องานซ่อมบำรุงในยูนนานแล้วเสร็จ เอ็มอาร์ซีได้ออกแถลงการณ์ว่า น้ำในแม่น้ำโขงแตะระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ พื้นที่ติดแม่น้ำโขงตั้งแต่อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปจนถึงจ.หนองคายของไทย ประสบความแห้งแล้งอย่างหนัก โดยระดับน้ำต่ำกว่าปกติ 2-3 เมตร
ประจวบเหมาะกับที่เขื่อนไซยะบุรีที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ในลาว เริ่มทดสอบการผลิตไฟฟ้าเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เต็มรูปแบบภายในเดือน ต.ค.นี้
อานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการบริษัทไซยะบุรี เพาเวอร์ ซึ่งดำเนินการเขื่อนไซยะบุรี เผยกับสื่อเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การทดสอบครั้งนี้ไม่มีผลระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง และว่าเป็นผลจากฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
“เราดำเนินการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่จำเป็นต้องกักเก็บน้ำ ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเท่ากับที่ไหลออกจากเขื่อน” อานุภาพเผย และโทษว่าเป็นผลจากปริมาณฝนตกสะสมซึ่งอยู่ที่เพียง 400 มิลลิเมตรระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. ปีนี้ เทียบกับ 1,200 มิลลิเมตรเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายกำลังเชื่อมโยงความเกี่ยวพันระหว่างการดำเนินการเขื่อนกับภัยแล้งในภูมิภาค
จีนสร้างเขื่อนไปแล้ว 10 แห่ง รวมถึงเขื่อนจิงหง ตลอดริมแม่น้ำโขงซึ่งคนจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานซาง” (ล้านช้าง) โดยจีนถือว่าเป็นแม่น้ำในประเทศตัวเอง ขณะที่ลาวมีเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้กับพรมแดนกัมพูชาและยังมีแผนสร้างเขื่อนอีก 7 แห่งใกล้หรือริมแม่น้ำติดพรมแดนไทย
ด้วยความช่วยเหลือของจีน กัมพูชามีแผนจะสร้างเขื่อนติดแม่น้ำใน จ.สตึงเตรงและจ.กำปงธม แต่ปัจจุบันอาจจะต้องมีการทบทวนแผนนี้ใหม่
แก้ว รัตตานัก ผู้อำนวยการใหญ่การไฟฟ้าราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวในการประชุม “วิสัยทัศน์พลังงาน” ที่กรุงพนมเปญซึ่งจัดโดยหอการค้าอเมริกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เขาไม่ต้องการให้แผนสร้างเขื่อน 2 แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าแผนพลังงานผสมผสานของกัมพูชา
ทั่วโลกมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำราว 3,700 แห่งอยู่ในแผนก่อสร้าง แต่ผลการศึกษาวิชาการหลายชิ้นชี้ว่าโครงการเขื่อนเหล่านี้มักมีต้นทุนมากกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 2 เท่าสร้างแล้วเสร็จช้ากว่าที่วางแผนไว้ 50% และมักดำเนินการได้ต่ำกว่ามาตรฐาน
ในประเทศไทย เขื่อนปากมูลที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารโลกและเปิดเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ดำเนินการโดยกฟผ. และตั้งอยู่ตอนล่างของลุ่มน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อครัวเรือนริมแม่น้ำกว่า 6 เท่าของที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นที่ 262 ครัวเรือน
เขื่อนแห่งนี้ยังทำลายอุตสาหกรรมประมงท้องถิ่น หลังกระแสคัดค้านจากชาวบ้านและกลุ่มเอ็นจีโอถูกเมินเฉย ขณะเดียวกัน ฝนที่ตกหนักยังเอ่อล้นเขื่อนและเข้าท่วมชุมชนใกล้เคียงทั้งในเมียนมาและลาวเมื่อปีที่แล้ว
แม่น้ำสงครามความยาว 485 กิโลเมตรที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงใกล้จ.นครพนมยังเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ยังคงไหลเป็นอิสระ แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกสร้างเขื่อนมาตลอด 40 ปี
เดวิด เบลค นักวิชาการชาวอังกฤษ ระบุว่า ปัจจุบันอาจจะมีการสร้างเขื่อนโดยใช้เหตุผลต่าง ๆ นานา
“บางที หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือการกลับมามีอำนาจอีกครั้งของกลุ่มพันธมิตรกองทัพ-ธุรกิจ-ข้าราชการในยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะเดินหน้าเมกะโปรเจคเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ” เบลคเผย
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์ กำหนดให้การปรับมาตรการรับมือภัยแล้งและอุทกภัยเป็นหนึ่งใน 12 นโยบายหลักที่จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม นอกจากนั้น รัฐบาลได้ขอข้อมูลการปล่อยน้ำจากจีนและลาวแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม กลายเป็นทางเลือกที่ได้ผลมากขึ้นเรื่อย ๆ และการสร้างเขื่อนมากขึ้นริมแม่น้ำโขงจะยิ่งส่งผลหายนะ