ดึงเอกชนร่วมปรับหลักสูตรอาชีวะ

ดึงเอกชนร่วมปรับหลักสูตรอาชีวะ

ศธ.ผนึกไอบีเอ็ม ปรับหลักสูตรอาชีวะมีทักษะศตวรรษที่ 21 มีเทคนิคทักษะด้านเทคโนโลยี สอดคล้องกับต้องการของตลาดแรงงาน และสถานประกอบการ นำร่อง 10 โรงเรียน เชื่อภาคธุรกิจ เป็นเสมือนพลังที่ 3 ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนานักศึกษาอาชีวะให้มีประสิทธิภาพ

วันนี้(21 ส.ค.2562) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างศธ.กับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย โดยมี นางพรรณสิรี อมาตยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าคอมเมอเชียล ไอบีเอ็ม ภูมิภาคอาเซียน ในโครงการ P-TECH (Pathways in Technology Early College) เพื่อจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยมีผู้บริหารศธ. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายณัฏฐพล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้พร้อมแข่งขัน ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะเป็นการนำเอาความต้องการของตลาดผสมผสานกับเทคโนโลยี เพื่อผลิตทรัพยากรบุคคลที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศ และถือเป็นการทำงานเชิงรุกขอศธ. เป็นจุดเริ่มต้นในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรทางอาชีวศึกษา ในการพัฒนาบุคลากรให้สามารถ เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน และตรวจประเมินคุณภาพการทำงานได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีที่ร่วมมือกับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีพาสเนอร์กับภาคเอกชน และธุรกิจอื่นๆ เป็นเสมือนพลังที่ 3 ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนานักศึกษาอาชีวะให้มีประสิทธิภาพ ประสบสำเร็จ มีทักษะศตวรรษที่ 21

“ในข้อตกลงกับทางบริษัท ไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ธุรกิจในการวางแผนสร้างกำลังคน ทรัพยากรบุคคลที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจจริงๆ เพราะทางภาคธุรกิจจะเข้ามาช่วยกำหนดทักษะที่เด็กควรจะมีเหมาะกับการทำงานในโลกที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญการพัฒนาหลักสูตรอาชีวะครั้งนี้ แม้เบื้องต้นจะนำร่องในสถานศึกษา 10 แห่ง แต่เมื่อเห็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน เด็กที่จบมีทักษะ ทำงานได้ตามที่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต้องการจะขยายไปยังหลักสูตรอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะแก้ปัญหาการผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โครงการ P-TECH จะเป็นประโยชน์และช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นคนไทยที่เรียกว่า New Collar หรือ คนที่มีเทคนิค มีทักษะด้านเทคโนโลยี เหมาะสมกับงานในยุคเทคโนโลยีที่กำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี และทักษะศตวรรษที่ 21 ของประเทศ” นายณัฏฐพล กล่าว

นางพรรณสิรี กล่าวว่าสําหรับความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ได้เสนอโครงการ P-TECH ซึ่งจะเน้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยใช้เวลาเรียน 5 ปี และนักศึกษาที่ จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงตามสาขาที่เรียน โดยเป็นโครงการที่ช่วยสร้างและพัฒนากําลังคนให้ มีทักษะด้าน IT และ STEM Education รวมถึงทักษะศตวรรษที่ 21 มีทักษะคิดวิเคราะห์ ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสารในยุคดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการและสอดคล้องกับความต้องการกําลังคนของตลาดแรงงาน ซึ่ง P-TECH ได้รับการยอมรับจากสถานศึกษา 110 แห่งทั่วโลก อีกทั้ง ยังจะมีองค์กรภาคธุรกิจมากกว่า 600 แห่ง เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับ การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญด้าน IT และด้านธุรกิจภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการ จัดการเรียนการสอนที่สามารถจับคู่ทักษะ (Skill Mapping) ของผู้เรียนให้เข้ากับทักษะที่ตรงตาม ความต้องการของตลาดแรงงาน

“New Collar หรือ คนที่มีเทคนิค มีทักษะด้านเทคโนโลยีนั้น เป็นบุคลากรที่ประเทศกำลังต้องการ เพราะขณะนี้มีช่องว่างของตำแหน่งงานใหม่ๆ อาทิ เกี่ยวกับบล็อกเชน นักวางกลยุทธ์ทางด้านคอนเทนต์ เป็นต้น ที่ต้องการกำลังคนที่มีทักษะ มีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคใหม่ๆ ของเทคโนโลยี โครงการดังกล่าว ทางไอบีเอ็ม ซึ่งมีพันธมิตรทางธุรกิจ จะเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เยี่ยมชมสถานที่ทำงาน มีการทำโปรเจค มีวิทยากรจากภาคเอกชน การฝึกงานให้กับผู้เรียนโดยได้รับค่าจ้าง ดังนั้นความร่วมมือระหว่างศธ. กับภาคเอกชน จะเป็นการปฎิรูปกระบวนการทำงานทางธุรกิจ และพลิกโฉมการศึกษาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นางพรรณสิรี กล่าว