เครือข่ายการผลิตอาเซียน
การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากสามารถกำหนดปัจจัยเสริมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นโยบายการค้าระหว่างประเทศก็จะสามารถทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย
เมื่อพิจารณาร่วมกับนโยบายการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ทั้งระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือระดับอาเซียน+1 อาเซียน+3 รวมทั้งอาเซียน+6 แล้วพบว่า นโยบายการค้าและการลงทุนมีลักษณะร่วมกันของทุกกรอบความร่วมมือคือ การพัฒนาให้ประเทศสมาชิกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตที่ฐานการผลิตที่กระจายตัวตั้งอยู่ในหลายประเทศและเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน
ภายใต้แนวแนวคิดของรูปแบบการแบ่งขั้นตอนการผลิตสินค้าซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตใหม่ที่ต่างจากเดิมที่ทุกกระบวนการและทุกขั้นตอนการผลิตรวมศูนย์ตั้งอยู่ในโรงงานที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ปัจจุบันแนวคิดแบบเครือข่ายการผลิตระดับนานาชาติกลายเป็นรูปแบบการผลิตหลักในระบบเศรษฐกิจโลก
กระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนสามารถกระจายตัวและไปตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งต่าง ๆ ได้ การผลิตในรูปแบบดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ แหล่งปัจจัยการผลิต และสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในมิติของภูมิศาสตร์
การแบ่งขั้นตอนการผลิตจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงในภูมิภาคใด ภูมิภาคนั้นต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงพอที่จะเชื่อมโยงกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนเข้าด้วยกัน โดยความเชื่อมโยงเหล่านี้เรียกว่าความเชื่อมโยงด้านบริการ ปัจจุบันจึงได้เกิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจขึ้นภายในอนุภูมิภาคเพื่อยกระดับความเชื่อมโยง กรณีประเทศไทย ได้มีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหลัก
รายงานการลงทุนแห่งอาเซียนประจำปี 2556-2557 ได้ให้คำนิยามของเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคว่าหมายถึง การสร้างมูลค่าเพิ่มในภูมิภาค ผ่านความสัมพันธ์ของการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกันหรืออาจเป็นกลุ่มบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกันก็ได้ การจัดการและการผลิตอยู่ในหลายประเทศซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
การจัดการและการผลิตในห่วงโซ่การผลิต หมายถึง การรับจ้างผลิต การซื้อปัจจัยการผลิตจากผู้ขายนอกบริษัท หรือการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ เครือข่ายการผลิตอาจมีความซับซ้อนและต่อเนื่องกันเป็นเครือข่ายที่ยาว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครือข่ายการผลิตบางอุตสาหกรรมอาจจะสั้นและง่ายในการเชื่อมโยง ทั้งนี้ เครือข่ายการผลิตในภูมิภาคสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตของโลกได้ด้วย
ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงควรมุ่งให้ความสนใจกับการสร้างเครือข่ายการผลิตในสองภาคการผลิตที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ได้แก่ ภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และภาคการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนอย่างน้อย 2 ปัจจัย
ปัจจัยที่หนึ่ง คือ ไม่มีประเทศใดมีความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบในทุกขั้นตอนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และปัจจัยที่สอง คือ รูปแบบของความสามารถในการผลิตของแต่ละประเทศในอาเซียนสามารถพัฒนาให้เกิดความสอดคล้องส่งเสริมกันได้อย่างมาก หากรวมการผลิตเข้าเป็นรูปแบบของเครือข่ายการผลิตระดับภูมิภาค เพราะความถนัดในแต่ละกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละประเทศจะช่วยอุดช่องว่างของกระบวนการผลิตแก่กันและกันได้
ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคได้ เมียนมาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้กับประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ และอาจจะรวมถึงอินเดีย
ความเชื่อมโยงดังกล่าวต้องมีความเชื่อมต่อระหว่างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บรรษัทข้ามชาติ และต้องลด/ยกเลิกนโยบายและมาตรการที่ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้าและการกีดกันทางการลงทุน รวมทั้งต้องพัฒนาโครงสร้างระบบสาธารณูปโภค และพัฒนากฎระเบียบกติกา ที่ลดต้นทุนของการทำธุรกรรม
เครือข่ายการผลิตในภูมิภาคจะผลักดันให้เกิดการผลิต การส่งออกทั้งภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ นำไปสู่การกระจายรายได้ของทั้งเกษตรกรและแรงงานที่อยู่ในฐานราก ท้ายที่สุดจะสามารถบรรเทาปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ