'บลจ.กรุงไทย' เปิดแผน ปั้นเอยูเอ็มโต 'แสนล้าน'
“บลจ. กรุงไทย” ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้บริหารปี 63 เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท หรือเติบโต 12% จากปีก่อน เผยแผนงานไตรมาสแรก รุกตั้งกองทุนควบประกันสุขภาพ-กองทุนต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าขยายดิจิทัลแฟลตฟอร์มเจาะนักลงทุนทั่วไป
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้น1แสนล้านบาท หรือเติบโต 12% จากปี 2562 มี AUM สุทธิ 8.27แสนล้านบาท เติบโต 6.6% จากปีก่อน
สำหรับแผนธุรกิจไตรมาส 1 ปีนี้ มีแผนเปิดจำหน่ายกองทุนควบประกันสุขภาพ และกองทุนอื่นๆ เน้นสร้างผลตอบแทนที่ดี รวมถึงกระจายพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจ โดยในปีนี้จะเดินหน้ารุกผลิตภัณฑ์กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ และกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์
ทั้งนี้ บริษัทผสานความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยปีที่ผ่านมามียอดซื้อกองทุนผ่านแอพพลิเคชั่น Next ของกรุงไทยกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และผ่านแอพพลิเคชั่น KTAM Smart Trade กว่า 8 พันล้านบาท หวังว่าในปีนี้ยอดซื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีความพยายามผลักดัน NDID Platform การพิสูจน์และยืนยันตัวตนบนดิจิทัลภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆต่อยอดการให้บริการเป็น Best Innovation Solution สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความง่าย สะดวก รวดเร็ว เน้นนำเสนอคอนเทนท์ที่ง่ายและเข้าถึงลูกค้าทั่วไปเพื่อให้คนเห็นความสำคัญการออมมากขึ้น ผ่านไลน์และเฟชบุ๊ค ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 4แสนกว่าราย หวังปีนี้มีผู้ติดตามเพิ่มมากกว่าเท่าตัว
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้ ประเมินกรอบดัชนีไว้ที่ 1,700 จุด คาดกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)จะขยายตัว 6% และมีสัดส่วน P/E ที่ 18 เท่า ใกล้เคียงปีก่อน แม้สูงกว่าในอดีตแต่ก็เป็นตามภาวะดอกเบี้ยต่ำ ภาวะการลงทุนยังเผชิญความผันผวนต่อเนื่อง ปัจจัยบวกคือภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐและการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ ผลการดำเนินงานของบจ.ที่น่าจะดีขึ้น และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง
“ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม ทั้งปัญหาประชากรสูงวัย และการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำ ทั้งนี้ในปีนี้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.25%”
ด้านกลยุทธ์การลงทุนปีนี้ เน้นหุ้นที่ได้รับผลดีจากแนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ ความกังวลจากสงครามการค้าที่ลดลง หุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานและปรับตัวลงมาแรง หุ้นที่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หรือหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการดีขึ้นในปีนี้
ส่วนการจัดพอร์ตการลงทุน แนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยงหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาค โดยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เน้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดกว่า และราคาหุ้น (Valuation) ไม่แพงมาก รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐที่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในระยะต่อไปนักลงทุนอาจต้องระวังแรงขายทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจพัฒนากลายเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในอนาคต