เยียวยาเลิกจ้างเพิ่ม 75% ลด-งดสะสมกองทุนสิ้นปี
ชง ครม. เยียวยาลูกจ้าง ขยายจ่าย "ประกันสังคม" ว่างงานจากโควิดเพิ่มเป็น 75% ของค่าจ้าง ได้ถึงสิ้นปี ยอดล่าสุด 2.5 พันล้าน เกือบ 5 แสนคน เปิดอุทธรณ์ถึง 18 พ.ค.
ขณะที่ คลัง ไฟเขียวนายจ้าง-ลูกจ้าง จ่ายสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1% เท่ากัน หรือหยุดชั่วคราวได้ถึงสิ้นปี
หลังจากสำนักงานประกันสังคมได้รับอนุมัติให้จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในกรณีที่ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน อันเนื่องมาจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบและไม่ได้รับค่าจ้างสิทธิประโยชน์ โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วันนั้น
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากเหตุสุดวิสัยเพิ่มเป็น 75% ของค่าจ้างรายวัน ยาวไปจนถึงสิ้นปี 2563 จากเดิมที่จ่าย 62% ของค่าจ้างรายวัน เพียง 3 เดือน ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแววว่าจะแย่ลง และอาจมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้น
นอกจากจะเสนอ ครม.ช่วยลูกจ้างแล้ว นายจ้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงเตรียมเสนอลดอัตราการเงินจ่ายเงินสมทบของนายจ้างเหลือเพียง 1% จากเดิมจ่าย 4% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแค่ลูกจ้าง
จ่ายว่างงานเกือบ 5 แสนคน
ม.ร.ว.จัตุมงคล ยังกล่าวถึงการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากโรคโควิด-19 ว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมเร่งจ่ายเงินให้ผู้ว่างงาน ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้เสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ค. มีผู้ยื่นข้อรับสิทธิ์ 990,523 ราย เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอนุมัติแล้ว 492,273 ราย เป็นเงิน 2,563.612 พันล้านบาท และมีลูกจ้างที่ว่างงาน 289,104 ราย ที่ยังรอนายจ้างเข้ามารับรองสิทธิ์ ซึ่งกลุ่มนี้สำนักงานประกันสังคม และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะส่งหนังสือแจ้งเตือนนายจ้าง ให้รับรองการหยุดงานของลูกจ้างภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกปฏิเสธการรับเงิน
ส่วน ลูกจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับการวินิจฉัย ว่าไม่ได้รับสิทธิประมาณ 1 แสนรายนั้น สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมความพร้อมรองรับการอุทธรณ์ไว้แล้ว โดยจะเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 18 พ.ค.นี้เป็นต้นไป และต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน หลังถูกปฏิเสธ
ทั้งนี้ ต้องยื่นผ่านสำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัดที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือส่งไปรษณีย์เท่านั้น ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ผ่านระบบออนไลน์ได้
อุทธรณ์สิทธิ์ได้ตั้งแต่ 18 พ.ค.
ด้านนางพิศมัย นิธิไพบูลย์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ต้องการยื่นอุทธรณ์สามารถยื่นได้ตั้งเเต่วันที่ 18 พ.ค. เป็นต้นไป โดยต้องได้รับหนังสือแจ้งการปฏิเสธสิทธิ์จากสำนักงานประกันสังคมก่อน จากนั้นให้นำหนังสือชุดดังกล่าวไปยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทุกสาขาทั่วประเทศ ภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ หากไม่สะดวกเดินทางไปด้วยตนเอง สามารถยื่นเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ได้โดยส่งไปตามที่อยู่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าเงินประกันสังคมจากกองทุนว่างงานมีเพียงพอจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างที่ว่างงานอย่างสุดวิสัยจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างแน่นอน
คลัง“ลด-งด”สมทบ“กองทุนฯ”
วันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง ให้นายจ้าง ลูกจ้าง ประสบปัญหาจากโควิด-19 เลื่อนส่งเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โดยเนิ้อหาระบุว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลงนามในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กําหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้าง หรือนายจ้าง หยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างและนายจ้างซึ่งได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อันส่งผลกระทบต่อ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
งดส่งสมทบสถานภาพยังคงอยู่
ข้อ 1 ให้ลูกจ้างหรือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบ ด้านฐานะการเงินจากสถานการณ์ การระบาดของโควิด-19 สามารถหยุด หรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพได้ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่งวดนําส่งเงินปัจจุบัน จนถึงงวดนําส่งเงิน ของเดือนธันวาคม 2563 โดยฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างที่ไม่ได้นําส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบในช่วงนี้ ให้ถือว่าสถานภาพยังคงอยู่ และนับต่อเนื่องไปได้
ในกรณีนายจ้างหยุด หรือเลื่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ตามวรรคหนึ่ง หากลูกจ้างรายใดประสงค์จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ก็สามารถดําเนินการได้ โดยนายจ้าง จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้างรายนั้นหรือไม่ก็ได้
“หยุด-เลื่อน”ใช้มติที่ประชุมใหญ่
ข้อ 2 การหยุดหรือเลื่อนการนําส่งเงินเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สมาชิก โดยคะแนนเสียงที่ใช้เป็นมติที่ประชุมนั้น จะต้องเป็นไปตามที่กําหนดในข้อบังคับกองทุน หรือต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม
หากไม่ได้กําหนดในข้อบังคับกองทุน และในกรณีที่ไม่สามารถจัดประชุมใหญ่สมาชิกได้ ให้กรรมการ ในคณะกรรมการกองทุนสํารองเลี้ยงชีพให้ความเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ ให้หยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเป็นการชั่วคราว
สําหรับกองทุนสํารองเลี้ยงชีพที่ประกอบด้วยนายจ้างหลายราย (Pooled Fund) ให้ใช้มติที่ประชุมของสมาชิกของนายจ้างรายนั้น ๆ หรือมติคณะกรรมการกองทุน นายจ้างรายนั้น ๆ เป็นเกณฑ์
ข้อ 3 ให้นายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ แจ้งการขอหยุดหรือเลื่อน การส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพต่อนายทะเบียนพร้อมเอกสาร ดังนี้
(1) หนังสือรับรองจากนายจ้างซึ่งรับรองว่ามีปัญหาในการดําเนินกิจการ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง โดยมีกรรมการผู้มีอํานาจลงนามผูกพันนายจ้างรายนั้น ๆ เป็นผู้ลงลายมือชื่อ
และ (2) รายงานการประชุมใหญ่สมาชิก หรือรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายงานว่า นายจ้างมีปัญหาในการดําเนินกิจการอันเนื่องมาจาก สถานการณ์โควิด-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง และมีมติ ที่ระบุรายละเอียดว่ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพจะให้มีการหยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบ เป็นการชั่วคราวถึงเมื่อใด (ไม่เกินงวดนําส่งเงินของเดือนธันวาคม 2563)
ข้อ 4 เมื่อลูกจ้างและนายจ้างจะส่งเงินสะสมและเงินสมทบตามข้อ 1 เข้ากองทุนสํารอง เลี้ยงชีพต่อไป ให้แจ้งนายทะเบียนทราบ
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป