ประเมินระดับ'เครียดการเมือง"ท่ามกลางม็อบ
ไม่อาจปฏิเสธว่าทุกๆครั้งที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและมีการชุมนุมหรือม็อบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของม็อบหรือเห็นต่าง ล้วนมีความเครียดเกิดขึ้นทั้งสิ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ในการติดตามสถานการณ์จะต้อง ‘เตรียมใจ’ให้พร้อม ไม่เครียดเกินไป
ความเห็นต่างเท่ากับประชาธิปไตย
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสังคมมีปัญหาพื้นฐาน ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมาอย่างยาวนาน บางช่วงเวลาเกิดการขัดแย้ง การต่อต้าน ซึ่งไม่เคยมีสังคมในประเทศไหน ไม่เคยผ่านการเผชิญกับความขัดแย้ง จึงต้องถือบทเรียนนี้เป็นการเรียนรู้ในสังคม และจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดการพัฒนาควบคู่กับไป ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ ต้องเปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง อาจต้องเน้นในสื่อสารหลัก ที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ นำข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายมานำเสนอ ไม่ร่วมผลิตความเกลียดชัง ส่งต่อข้อความ ข่าวสารที่รุนแรง เพิ่มความเกลียดชังในสังคมไทย
“ความรุนแรงอันดับแรกที่พบ จะเป็นวาจา รองลงมากายกรรม และ เมื่อมีการใช้ความรุนแรง หรือการทำร้ายกันเกิดขึ้น ความชอบธรรมทุกอย่างจะหมดไป เพราะความอดทนต่อความเห็นต่างถึงจะเป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม”นพ.ยงยุทธ์กล่าว
บรรยากาศการชุมนุมในขณะนี้มีแต่เยาวชน ซึ่งขณะนี้สังคมทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ และยอมรับไม่ได้กับความรุนแรงหากจะมีเกิดขึ้น ดังนั้น ต้องพยายามแก้ไขปัญหา และเกิดความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ใช่ความรุนแรง ทั้งนี้ไม่อยากให้มองความขัดแย้งในสังคมว่าเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ อยากให้มีการพยายามรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ว่า ทำไมคนรุ่นเก่าถึงอยากคงรูปแบบเดิมไว้ เหตุผลของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแปลงเปลี่ยนคืออะไร
แนะวิธีเสพข่าวการเมือง
ในการติดตามสถานการณ์ทางการเมืองนั้น กรมสุขภาพจิต แนะนำว่า 1.ลดการติดตามเรื่องทางการเมือง เพราะข้อเสนอและความคิดเห็นทางการเมืองเกิดขึ้นได้ทุกชั่วโมง และเกิดขึ้นได้ทุกนาทีในสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้มีข้อเท็จจริงใดๆ อยากให้ลดการรับรู้ ซึ่งแนะนำแค่วันละ 2 ชั่วโมง คือ เช้า 1 ชั่วโมง เย็นค่ำ 1 ชั่วโมง
2.อยากให้ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติสุข ทำงานทำให้สำเร็จ เรียน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ
และ 3.พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลาย หาทางดูแลสุขภาพตนเอง ออกกำลังกายบ้าง หันเหความสนใจไปเรื่องอื่นๆ รับประทานอาหาร นอนหลับให้เพียงพอ เพราะบางคนเครียดมากจะไม่สบายทั้งกายและใจ มีผลให้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะคนมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว เช่น ความดันสูง เบาหวาน หอบหืด ก็จะควบคุมอาการได้ยาก สุขภาพแย่ลง
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแบบประเมินอารมณ์และความเครียดทางการเมืองขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและพยากรณ์ เพราะถ้ามีความเครียดหรืออารมณ์ทางการเมืองรุนแรงขึ้นตามเกณฑ์ที่ประเมิน หลังจากนั้น 1 สัปดาห์จะมีความรุนแรงทางการเมือง เช่น การใช้กำลังต่างๆ เพื่อจะได้เตรียมการดูแลหรือพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด
ทุกคนสามารถประเมินความเครียดทางการเมืองด้วยตนเองได้ สามารถดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซต์ของกรมฯ ซึ่งแบบประเมินมีเพียง 5 ข้อ ถ้าผลออกมาอยู่ในระดับความเครียดปานกลางขึ้นไป แนะนำของดติดตามทางการเมือง 1-2 วัน แต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ติดตามวันละ 1-2 ชั่วโมง
ประเมินอารมณ์ชะลอเครียด
แบบประเมินอารมณ์และความเครียดทางการเมือง โดยประเมินว่าในช่วงที่ผ่านมาเรามีความรู้สึกต่อไปนี้อย่างไร
- ฉันมักอารมณ์เสียเวลาคุยเรื่องการเมือง (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- เวลาคนพูดเรื่องการเมืองที่ฉันไม่เห็นด้วย ฉันอดไม่ได้ต้องเถียงเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- ฉันหมกมุ่นเรื่องการเมือง จนลืมเรื่องบ้านฉัน (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- ฉันกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับประเทศไทยตลอดเวลา (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
- ฉันมักจะพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดเห็นทางการเมืองของฉันเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
เมื่อประเมินแล้วก็ให้คะแนนและแปลผลดังนี้ ตอบว่า ใช่ = 2 คะแนน, ไม่แน่ใจ = 1 คะแนน, ไม่ใช่ = 0 คะแนน เสร็จแล้วรวมคะแนนที่ได้ทั้งหมดแล้วอ่านผลประเมิน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้คะแนน 0-2 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองปกติ คือ เป็นผู้ที่เปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และตระหนักเพียงว่าเป็นความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจไม่ตรงกันได้
กลุ่มที่ 2 ได้คะแนน 3-5 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง มีจุดยืนและรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะเครียดและเกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ถ้าหมกมุ่นมากเกินไป จึงควรหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ไปท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายบ้าง
กลุ่มที่ 3 ได้คะแนน 6-10 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง มีความเสี่ยงต่อความเครียดและขัดแย้งกับผู้อื่นสูง จึงไม่ควรเปิดรับสื่อที่นำเสนอเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองทั้งวัน หากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง และหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานการณ์หรือกับบุคคลที่มีความคิดรุนแรง