วางแผนภาษี 'ลดหย่อนภาษี' ช่วงโค้งสุดท้ายกันเถอะ
วางแผนลงทุนระยะยาวอย่างไรให้ได้สิทธิ "ลดหย่อนภาษี" เมื่อกองทุน LTF ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว กองทุน SSF หรือ RMF น่าลงทุนหรือไม่? และมีเกณฑ์ในการพิจารณาในการเลือกลงทุนอย่างไรบ้าง?
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน ปี 2020 กำลังจะผ่านพ้นไป ปีนี้มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่สะเทือนโลกอย่างโควิด หรือการเลือกตั้งในอเมริกา รวมถึงความผันผวนที่มีต่อตลาดเงินตลาดทุน หรืออัตราแลกเปลี่ยน
ผมมองเห็นหลายๆ หลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเป็นบวก และอีกหลายสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนติดลบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยว และเรายังได้เห็นการเกิดขึ้นของหุ้นหรือกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่เราอาจไม่เคยสนใจหรือไม่เคยรู้มาก่อน เช่น หุ้นบริษัทประชุมทางไกลอย่างซูม เป็นต้น
เช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ใกล้สิ้นปีหลายคนคงมองหากองทุนที่ลงทุนและได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษี หลายท่านคงทราบแล้วว่ากองทุน LTF นั้นไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกแล้ว แต่มีกองทุนประเภทใหม่มาให้เราได้เลือกคือ กองทุน SSF แต่กองทุน RMF นั้นนักลงทุนยังคงลงทุนและใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ วันนี้ผมเลยอยากเขียนเรื่องของการเลือกลงทุนในกองทุน SSF และ RMF พร้อมมุมมองที่ผมคิดว่าจะช่วยในการวางแผนลงทุนระยะยาวที่ดีให้กับนักลงทุนควบคู่ไปกับการได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี
เริ่มจากกองทุน SSF ที่ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 แสนบาท (รวมกับ RMF, PVD, กบข. และประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) ลดหย่อนสูงสุด 30% ของเงินได้ มีทั้งกองทุนจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล ระยะเวลาลงทุน 10 ปีนับจากวันซื้อ ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีและลงทุนระยะยาว
ส่วนกองทุน RMF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 5 แสนบาท (รวมกับ SSF, PVD, กบข. และประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) มีเฉพาะกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล ระยะเวลาลงทุนต้องซื้อต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกันขึ้นไป และขายได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีและลงทุนเพื่อเกษียณอายุ
ต่อไปผมจะพูดถึงปัจจัยที่นักลงทุนควรใช้ในการพิจารณาเพื่อเลือกลงทุนในกองทุนเหล่านี้ ปัจจัยแรกคือวัตถุประสงค์ในการลงทุนว่าเราต้องการลงทุนในกองทุนเหล่านี้เพื่ออะไร เช่น เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเกษียณ หรือคนที่เกษียณแล้วอาจจะใช้เพื่อลดหย่อนภาษี ลักษณะนี้กองทุนที่เลือกควรเป็น RMF ประเภทตราสารหนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำและสามารถขายคืนได้หลังจาก 5 ปี
ส่วนคนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนเกษียณนั้นควรพิจารณาปัจจัยที่สองเพิ่มเติม คือ เรื่องของความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง โดยส่วนใหญ่มักจะแบ่งเป็น 5 ระดับ ถ้าเรารู้ว่าเรารับความเสี่ยงได้น้อย ก็ควรจะเลือกลงทุนส่วนใหญ่ ในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ และแบ่งอีกส่วนซึ่งอาจจะไม่เกิน 10% ลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเพิ่มผลตอบแทน
ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก สัดส่วนการลงทุนในกองทุนเสี่ยงสูงก็จะมากขึ้น เช่น มากกว่า 70% และแบ่งส่วนที่เหลือลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ในปีนี้ผลตอบแทนจะติดลบจากผลกระทบของโควิด แต่ในระยะยาวสินทรัพย์ประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้
ปัจจัยที่สาม เลือก บลจ. ที่ออกกองทุน เนื่องจากการลงทุนในกองทุน SSF/RMF นั้นเป็นการลงทุนระยะยาวเราควรพิจารณาเลือกลงทุนกับบลจ.ที่มีกองทุนหลากหลายประเภท เช่น ควรมีทั้งตราสารหนี้ในประเทศ ต่างประเทศ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ เป็นต้น อย่างที่เขียนไว้ในตอนต้นว่า กองทุนที่มีวัตถุประสงค์การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น Online Shopping และ AI ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่เราควรพิจารณาว่า บลจ.นั้นๆ มีขายอยู่ด้วยหรือไม่
นอกจากดูความหลากหลายของประเภทกองทุนแล้ว ปัจจัยต่อมาที่สำคัญในการพิจารณาคือ ผลการดำเนินงานของกองทุนต้องโดดเด่นหรือดีกว่าคู่แข่งโดยเฉลี่ย แต่ละ บลจ.มีกองทุนที่ผลการดำเนินงานอาจดีบ้างไม่ดีบ้างเราควรเลือก บลจ.ที่มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของทุกๆ ประเภท (เฉพาะ SSF/RMF) ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย
สองปัจจัยสุดท้ายมีความสำคัญ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักนิยมลงทุนในบลจ.เดิมๆ และหากในอนาคตเราต้องการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่เราลงทุนเพื่อตอบรับกับทิศทางตลาดที่เปลี่ยนไป หรือเมื่อความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไป การสับเปลี่ยนกองทุนภายใน บลจ. เดียวกันมักจะทำได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำกว่าการสับเปลี่ยนระหว่าง บลจ.
ผมหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านในการเลือกกองทุน SSF/RMF ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุนครับ