เปิดแผนระดมทุน ‘การบินไทย’ 50,000 ล้าน ต่ออายุฟื้นฟูธุรกิจ

เปิดแผนระดมทุน ‘การบินไทย’  50,000 ล้าน ต่ออายุฟื้นฟูธุรกิจ

"การบินไทย" ประกาศต้องจัดหาทุนใหม่เพิ่ม 50,000 ล้านบาท หนุนธุรกิจช่วงฟื้นฟูกิจการ หลังกระแสเงินสดในมือพยุงถึง ก.ค.นี้

หลังบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ตามกระบวนการศาลล้มละลาย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) นำทีมผู้บริหารการบินไทย แถลงแผนฟื้นฟูกิจการต่อสื่อมวลชนในทันที

โดยประเด็นที่น่าจับตา ไม่เพียงแนวทางบริหารธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แต่ยังมีประเด็นของการเร่งหา “เงินทุน” เข้ามาเสริมสภาพคล่อง เพราะฝ่ายบริหารต่างยอมรับว่า กระแสเงินสดในมือของการบินไทย ปัจจุบันเหลือใช้เพียงพอถึงเดือน ก.ค.นี้เท่านั้น

จากกระแสเงินสดที่มีอยู่นั้น มีความจำเป็นต้องหาเงินเพิ่ม แต่รูปแบบหาเงินทุนจะเป็นยังไง ขึ้นกับรูปแบบธุรกิจที่วางไว้” นายชาญศิลป์ กล่าว

161493810078

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย เผยว่า แผนการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะนี้การบินไทยมีรูปแบบที่ชัดเจนว่าจะไม่ขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง (แฮร์คัท) แต่จะเป็นการปรับผ่อนจ่ายยืดหนี้ออกไป

การแปลงหนี้เป็นทุนถือเป็นออฟชั่นเสริม ส่วนการเพิ่มทุนมีอยู่ในแผนอยู่แล้ว เพิ่มทุนหรือกู้เพิ่มยังไม่ได้เจาะจง แต่เราต้องหาแหล่งเงินเพิ่ม 5 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเพิ่มจากทางไหนก็ได้ยินดีหมด เราเปิดกว้างทุกส่วนทั้งรัฐ เอกชน ต่างชาติ และเจ้าหนี้เดิม” นายชาย กล่าว

เมื่อเปิดแผนระดมทุนใหม่ 5 หมื่นล้านของการบินไทยครั้งนี้ พบว่ามีแนวทางดำเนินการ ประกอบด้วย

  • การปรับโครงสร้างทุน 

เนื่องจากการบินไทยมีผลขาดทุนสะสมจำนวนมากและส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ทำให้จำเป็นต้องได้รับเงินเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือนักลงทุนรายใหม่ นอกจากนี้ในแผนกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มมีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้บางส่วนเป็นหุ้นสามัญ

  • การจัดหาแหล่งเงินทุนโดยการกู้ยืมใหม่ 

เพื่อนำเงินมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ และ/หรือค่าใช้จ่ายของการบินไทย และ/หรือเพิ่มความสามารถทางการเงินในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับที่ผู้บริหารแผนเพิ่มทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในแผน

  • การปรับโครงสร้างหนี้ 

แผนกำหนดให้มีการปลดหนี้ภาระหนี้เงินต้นบางส่วน และ/หรือดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดหรือบางส่วน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมด การแปลงหนี้บางส่วนเป็นทุน การพักชำระหนี้ และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างหนี้จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้การบินไทยล้มละลาย

  • การก่อหนี้และการระดมเงินทุน 

การที่การบินไทยจะดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และชำระหนี้ได้ตามแผน การบินไทยต้องได้รับสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ใน 2-3 ปี นับแต่วันที่ศาลเห็นชอบแผน ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท โดยผู้บริหารแผนมีอำนาจใช้เงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน

โดยในแผนนี้เจ้าหนี้ยินยอมให้การบินไทยเพิ่มทุน ระดมเงินทุน ก่อหนี้ และ/หรือขอรับการสนับสนุนทางการเงินไม่ว่ารูปแบบใด ทั้งนี้ผู้บริหารแผนนำทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันไปเป็นหลักประกันของสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นใดในการดำเนินการดังกล่าว ผู้บริหารแผนมีอำนาจเจรจา ตกลงเงื่อนไขสัญญาและทำสัญญา

  • การได้รับการสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ ผู้บริหารแผนอาจดำเนินการใดๆ ดังนี้
  1. การขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคคลใดๆ เป็นจำนวน 25,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากผู้บริหารแผนเห็นว่าหานักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคลใดๆ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวน 25,000 บาท อาจขอสินเชื่อใหม่ให้เต็มจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องพอ
  2. ขอรับสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ของการบินไทย บุคคลอื่นใด 25,000 ล้านบาท ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Loan) และ/หรือตราสารใดที่ผู้บริหารแผนเจรจากับผู้สนับสนุนทางการเงิน