ข่าวปลอม! 'น้ำเกลือ Normal Saline' ใช้แช่คอนแทคเลนส์เพื่อฆ่าเชื้อได้
ข่าวปลอม อย่าแชร์! "น้ำเกลือ Normal Saline" ใช้แช่คอนแทคเลนส์เพื่อฆ่าเชื้อได้
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง น้ำเกลือ Normal Saline ใช้แช่คอนแทคเลนส์เพื่อฆ่าเชื้อได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากคำแนะนำที่ระบุว่า สามารถใช้น้ำเกลือ Normal Saline แช่คอนแทคเลนส์เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า น้ำเกลือ Normal Saline ใช้แช่คอนแทคเลนส์ไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ หากนำมาแช่คอนแทคเลนส์จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย แต่ใช้ล้าง คอนแทคเลนส์ก่อนใช้งานเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรีย และลดการระคายเคืองตาได้ โดยคอนแทคเลนส์ หรือเลนส์สัมผัส มีด้วยกันหลายชนิดโดยแบ่งตามระยะเวลาการใช้งาน สำหรับคอนแทคเลนส์รายวันเป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ส่วนชนิดอื่นสามารถใช้ได้หลายครั้งตามระยะเวลาที่กำหนด การดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นวัตถุที่ใช้กับดวงตา หากเก็บรักษาไม่ดี หรือไม่สะอาด จะทำให้ตาติดเชื้อแบคทีเรียได้
ส่วนน้ำเกลือ Normal Saline ชนิดใช้ภายนอกร่างกาย คือเกลือโซเดียมคลอไรด์ละลายในน้ำบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อ ไม่ผสมวัตถุกันเสีย และไม่ผสมสารฆ่าเชื้อ หากนำมาแช่คอนแทคเลนส์จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เพื่อความปลอดภัย อย. ขอแนะนำให้แช่คอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาสำหรับแช่คอนแทคเลนส์นาน 4-6 ชั่วโมง (แล้วแต่ชนิดของน้ำยา) และหลังจากแช่น้ำยาจนครบเวลาแล้ว ก่อนใช้คอนแทคเลนส์ควรล้างด้วยน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ หรือน้ำเกลือ Normal Saline อีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียได้
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : น้ำเกลือ Normal Saline ใช้แช่คอนแทคเลนส์ไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ หากนำมาแช่คอนแทคเลนส์จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และอาจทำให้ตาติดเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข