‘ส.ว.ทหาร’ เรื่องเก่า ‘ป่วน’ ใหม่ ไขปม ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ลาออกได้ ?
‘จตุพร’ เชือว่าแม้รัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้ ผบ.เหล่าทัพ เป็น ส.ว. แต่ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ลาออก ซึ่งเป็นไปตามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111(3)
ถูกจุดประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง กับเก้าอี้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.โดยตำแหน่ง ของ ‘ผบ.เหล่าทัพ’ หลังเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เมื่อ ธ.ค.2563 แทนชุดเดิมที่เกษียณอายุราชการ และยังไม่เคยเข้าทำหน้าที่แม้แต่ครั้งเดียว เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาด ‘โควิด-19’
แต่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นภารกิจหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในปฏิทินของ ‘กลุ่มไทยไม่ทน’ นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หวังเดินเกมตัดแขนตัดขา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งการยื่นหนังสือถึง ‘ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย’ ให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล และให้ ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ลาออกจากส.ว. แม้จะไม่ได้ผลในวันนี้ แต่หวังให้เกิดกระแสสังคมกดดันวันข้างหน้า
ปัญหา ส.ว.โดยตำแหน่ง ของ ผบ.เหล่าทัพ ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เพราะนอกจากขัดหลักประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นประเด็นให้ขั้วการเมืองตรงข้ามใช้โจมตี ‘พล.อ.ประยุทธ์’ มาต่อเนื่องว่า เป็นผลพวงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.หวังสืบทอดอำนาจ ค้ำบังลังก์นายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเปิดทางให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ขณะที่ตัว ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ก็โดนลูกหลงไปด้วยกับข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อน รับเงินเดือนสองทาง เพราะการสวมหมวกหลายใบทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายในการทำงาน ไม่คล่องตัว จนเกิดปัญหาสับรางไม่ทัน และเป็นสาเหตุให้ลาประชุมอยู่บ่อยครั้ง
จึงกลายเป็นที่มาจับเข่าคุยในวง ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ในขณะนั้น จนได้ข้อสรุป ‘คืน-ไม่รับ’ เงินเดือน ส.ว.จนเกษียณอายุราชการ และเป็นบรรทัดฐานให้ ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. พล.อ.ณรงพันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ชาติชาย ศรวรขาน ผบ.ทบ. พล.อ.อ.แอร์บูลย์ สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.
พล.อ.เฉลิมพล เคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า การเข้ามารับตำแหน่ง ส.ว.เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ของบ้านเมืองมาเป็นหลักดูแล ทั้งด้านกฎหมาย และการดำเนินการต่าง ๆ เราไม่สามารถพูดได้ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามภาระหน้าที่ และไม่รับเงินเดือนตำแหน่ง ส.ว.
ส่วน พล.อ.ณรงค์พันธ์ ชี้แจงว่า อยากให้ฝ่ายการเมืองไปถามคนร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ผบ.เหล่าทัพ เป็น ส.ว.เหมาะสมหรือไม่ ในขณะที่ตนก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และใช้ความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงมาทำงาน
แม้ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองพยายามเร่งผลักดันให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะโละ ส.ว.โดยตำแหน่งของ ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ทิ้ง ท่ามกลางกลไกที่ซับซ้อน และเกมการเมืองของรัฐบาล จึงทำให้การดำเนินการไปไม่ถึงไหน และยังค้างอยู่ในสภา
แต่ในมุมมอง ‘จตุพร’ กลับเปิดประเด็นใหม่ว่าแม้รัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้ ผบ.เหล่าทัพ เป็น ส.ว. แต่ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ลาออก ซึ่งเป็นไปตามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111(3)
จึงเป็นที่มายื่นหนังสือครั้งนี้ หวังให้กองทัพแสดงจุดยืนอันมั่นคงตามหลักประชาธิปไตย และมุ่งรับใช้ประชาชนมากกว่าคุ้มครองผลประโยชน์พล.อ.ประยุทธ์
อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ให้ความกระจ่างในประเด็นนี้ว่า ต้องเข้าใจว่า ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สมัครเข้ามา จะเรียกว่าไฟต์บังคับก็ว่าได้ เพียงแต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด หลักการง่ายๆ ถ้าลาออกจาก ส.ว.ก็ต้องลาออกจากการเป็น ผบ.เหล่าทัพ
“การลาออกไม่ได้ตอบโจทย์ หากหนึ่งใน ผบ.เหล่าทัพ คนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะลาออกจริง ก็จะมีคนใหม่เข้ามาแทนที่อยู่ดี เพียงแต่จะกลายเป็นประเด็นและเงื่อนไขให้ฝ่ายการเมืองนำมากดดัน พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมทั้งยืนยันว่า หนทางเดียวที่ไม่ให้ ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ”
ถือว่าจบข้อสงสัย ไขปม ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ลาออกจาก ส.ว.ได้หรือไม่ ในมุมของกรรมการร่างกติกา