เปิดคำชี้แจงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คดีซีพีควบเทสโก้โลตัส
บอร์ดแข่งขันทางการค้า ยัน ทำตามกฎหมาย ไฟเขียวให้ซีพีควบโลตัส ด้านองค์กรเพื่อผู้บริโภค ย้ำ รวมกิจการผูกขาดตลาดค้าปลีก สร้างอำนาจต่อรอง ทำลายผู้ค้าปลีกรายย่อย เตรียมลุ้นคำสั่งศาลปกครองปมซีพีควบเทสโก้โลตัส
คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)หรือบอร์ดแข่งขันทางการค้า มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 อนุญาตให้บริษัทซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ควบรวมธุรกิจกับบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 โดยให้เหตุผลว่าการรวมธุรกิจทำให้มีอำนาจตลาดเพิ่มแต่ไม่ผูกขาด และจำเป็นต้องควบรวมตามควรทางธุรกิจ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องบอร์ดแข่งขันทางการค้า และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กรณีมีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ซีพี - เทสโก้ อาจขัดกฎหมาย
โดยศาลปกครองรับคำฟ้องและให้คู่กรณีส่งคำชี้แจงต่อศาลปกครองพร้อมกับเอกสารประกอบคำชี้แจง ล่าสุดทั้งคู่กรณีดังกล่าวได้ชี้แจงต่อศาลปกครองแล้ว จากนี้ต้องรอให้ศาลพิจารณามีคำตัดสินอย่างไร โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบอร์ดแข่งขันทางการค้าได้ให้นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้เข้าชี้แจงต่อศาลปกครองพร้อมกับเอกสารประกอบคำชี้แจงตามประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภคยื่นฟ้อง คือ 1.การขอทุเลาคำสั่งการควบรวมกิจการ และ2 . เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่มีมติให้ควบรวมกิจการได้ ทั้งนี้ทางบอร์ดแข่งขันทางการค้าได้ยืนยันต่อศาลปกครองว่าได้ดำเนินการพิจารณากรณีการควบรวมกิจการเป็นไปตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 และยืนยันว่ามติของบอร์ดแข่งขันทางการค้าชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ทางศาลปกครองคำสั่งให้องค์กรผู้บริโภคส่งคําชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบถึงเหตุผลที่ว่า หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองไว้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดความเสียหายอย่างไร โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภคได้ส่งคำชี้แจงต่อศาลปกครองไปเช่นกัน โดยระบุว่า หากปล่อยให้รวมกิจการต่อไปจะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจตลาดค้าปลีกได้ครบวงจร ส่งผลให้เกิดการผูกขาด ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการค้าปลีกขนาดเล็กจนต้องเลิกกิจการ
ทั้งนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เผยแพร่คำชี้แจงผ่านเพจเฟสบุ๊กชื่อ”มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ เมื่อมีการรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทสะท้อนให้เห็นว่าหลังรวมธุรกิจจะทำให้สามารถครอบงำตลาดค้าปลีกได้ทุกประเภท นอกจากนี้ เมื่อรวมกับธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่จะส่งผลให้ทั้งสองบริษัทมีอำนาจผูกขาดตลาดตั้งแต่ต้นน้ำถึง ปลายน้ำ ซึ่งเป็นการผูกขาดตลาดในแนวดิ่ง คือ แม้บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด จะประกอบกิจการในตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ แต่ก็ยังเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ทางนโยบายกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เสมือนหนึ่งเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน ซึ่งในเครือธุรกิจดังกล่าวนั้นประกอบธุรกิจในตลาดค้าส่งสมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) กิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าบริโภค กิจการด้านกลุ่มการเกษตรและ ปศุสัตว์ และธุรกิจการขนส่งสินค้า สุดท้ายหากปล่อยให้มีการกระจุกตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งการรวมธุรกิจ การขยายสาขา การมีอำนาจเหนือตลาด จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องถูกกีดกันออกจากตลาดการแข่งขันทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในตลาดค้าปลีก และไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นในตลาด
นอกจากนี้ การรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกขนาดเล็กน้อยลง เนื่องจากการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้ทั้งสองบริษัทมีอำนาจเหนือตลาดมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีอำนาจเหนือตลาดก็ยังส่งผลให้มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า รวมถึงชนิด และปริมาณของสินค้าที่จําหน่ายได้ จากรายงานการวิจัยของศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ที่ระบุว่า ปัจจุบันประเทศกําลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ประกอบกับปัญหาข้อจํากัดด้านเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ รวมถึงปัญหาสภาพคล่องซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีอยู่มากที่สุดจำนวน 8.95 แสนราย จากผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหมด 9.05 แสนราย หากคำสั่งรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทยังดำเนินการต่อไปจะทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กทยอยปิดตัวลงจนไม่สามารถกลับมาประกอบกิจการในตลาดค้าปลีกขนาดเล็กได้ดังเดิม
และตามรายงานการวิจัยของ Ennis, Gonzaga, และ Pike (2019) ที่ศึกษาข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า อำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้มีอำนาจตลาดกล้าขึ้นราคาสินค้าและคว้ากําไรเพิ่มขึ้น ผลก็คือ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เมื่อมีอำนาจเหนือตลาดก็ย่อมมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบที่ เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น OTOP ซึ่งหากยังปล่อยให้มีการรวมกิจการต่อไปก็จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นจนไม่อาจกลับไปแก้ไขได้
ท้ายสุด หากศาลไม่มีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยให้ระงับคำสั่งการรวมธุรกิจไว้ก่อน และต่อมาศาลมีคําพิพากษาเพิกถอนมติอนุญาตให้รวมธุรกิจของคณะกรรมการแข่งขันฯ ก็แทบจะไม่มี ประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากจะไม่มีร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ในท้องตลาดที่จะสามารถ กลับมาได้อีก นอกจากนี้ การปล่อยระยะเวลาให้ล่วงเลยไปและปล่อยให้กิจการของทั้งสองบริษัทดำเนินกิจการต่อไปย่อมมีผลกระทบในตลาดค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นอย่างมาก จนอาจไม่สามารถกลับมาแก้ไขหรือเยียวยาได้
คาดว่า ศาลปกครองน่าจะมีคำตัดสินในเร็วๆนี้ ซึ้งต้องจับตาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และไม่ว่าจะมีคำสั่งอย่างไรทั้งคู่กรณีก็ยังมีโอกาสที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก ซึ่งคดีดังกล่าวถือเป็นคดีด้านเศรษฐกิจที่สังคมให้ความสำคัญและจับตามองอย่างยิ่งตั้งแต่จุดเริ่มต้นการขอควบรวมกิจการ บอร์ดการแข่งขันมีมติไฟเขียวให้ควบรวมกิจการได้ จนกระทั่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภคฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
อย่างไรก็ตามในระหว่างการรอคำตัดสินของศาลปกครองซึ่งคาดว่าจะมีคำตัดสินออกมาในเร็วๆนีี้ ในระหว่างนี้เองก็มีกระแสข่าวว่า กลุ่มซีพีจะขายหุ้นในโลตัสออกไป 30-35% เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม ประเด็นการผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตามอง โดยเฉพาะบอร์ดแข่งขันทางการค้าได้เร่งหาข้อมูลว่า กระแสดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนีี้ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือ คำตัดสินของศาลปกครองถือว่ามีความสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในอนาคต