ผ่า งบฯปี 66 รัฐตั้งงบ 3.18 ล้านล้าน ขาดดุล 6.95 แสนล้าน นายกฯสั่งปั๊มรายได้
ครม.เคาะกรอบงบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน เป็นงบประมาณขาดดุล 6.95 แสนล้าน สมมุติฐานเศรษฐกิจคาดจีดีพีโต 3.7% นายกฯสั่งหน่วยงานเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอน สถานการณ์เงินเฟ้อ เร่งสร้างรายได้ใหม่เน้นลงทุนในอีอีซี BCG
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ2566 โดยมีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2566 วงเงินรวม 3.185 ล้านล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล จำนวน 6.95 แสนล้านบาท ขาดดุลลดลงจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.71% และคิดเป็นสัดส่วน 3.89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยมีสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.7% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 5.6% ของจีดีพีจากการส่งออกที่ยังขยายตัวและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัว
ทั้งนี้วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงิน ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) ที่ครม. ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
1.กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวม 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 8.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น2.74% ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้ 1)รายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 16,990.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.72% ทั้งนี้งบประมาณประจำคิดเป็นสัดส่วน 75.04% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
2)รายจ่ายลงทุนวงเงินรวม 6.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 83,066.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.57% คิดเป็นสัดส่วน 21.82% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
3)รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 1 แสนล้านบาท โดยกำหนดเท่ากับปีงบประมาณปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 3.14% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
2.การประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาล มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ จำนวน 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 9 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.75% จากปีงบประมาณก่อน
นายธนกรกล่าวด้วยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณของประเทศ โดยมีกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.)และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการที่ต้องดำเนินการการบริหารความเสี่ยง ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางสำหรับในแต่ละกรณีเป็นการล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาลในประเด็นต่อไปนี้ เช่น การเร่งสร้างรายได้ใหม่ตามมาตรการของรัฐบาล เช่น มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย (LTR) มาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S - curve) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยีและธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วย BCG Mode
รวมทั้งให้มีการติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ โดยหน่วยรับงบประมาณต้องมีการใช้จ่ายให้เป็นไปตาม แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานและ ต้นทุนโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ การดำเนินมาตรการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านแรงงาน รวมทั้งการควบคุมอัตรา แลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย