"ไทยประกันชีวิต" มุ่งสู่การเป็น "บริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน"
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI มุ่งสู่การเป็น "บริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน" เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG
ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development หรือ SD กำลังเป็นแนวคิดที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันภาคธุรกิจทั้งในไทยและระดับนานาชาติต่างกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social และ Governance ส่งผลให้ "การลงทุนแบบยั่งยืน" เป็นมากกว่าเทรนด์ แต่กำลังมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้น
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ในฐานะบริษัทประกันชีวิตสัญชาติไทยแห่งแรก ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคนไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 80 ปี ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2565 เพื่อเสริมศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยวางกลยุทธ์การเติบโตที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการลงทุนเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจรองรับความผันผวนของโลกยุคใหม่ ผลักดันบริษัทฯ สู่การเป็น Data Driven Company รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการขายให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับนักลงทุน
นอกจากนี้ อีกด้านของการดำเนินธุรกิจ TLI ยังวางเป้าหมายยกระดับองค์กรสู่ "ความยั่งยืน" โดยประกาศนำแนวทางการดำเนินงานที่สามารถตอบโจทย์ ESG อย่างครบรอบด้าน และมุ่งส่งมอบ "คุณค่า" แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาใช้
2565 ผลประกอบการยังแข็งแกร่ง
นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (Annual Premium Equivalent : APE) อยู่ที่ 9,641 ล้านบาท เติบโต 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีผลรวมกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกถึงวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ (Value of New Business : VONB) 5,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ VONB Margin หรือกำไรจาก VONB เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อยู่ที่ 53.4% ทำให้บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 14.1%
ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากช่องทางการขายทุกช่องทางของบริษัทฯ มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้าน APE และ VONB สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของช่องทางการการขายที่หลากหลาย โดยช่องทางการขายผ่านตัวแทนฯ มี VONB คำนวณต่อปี เติบโตถึง 25% เป็นผลจากประสิทธิภาพในการขยายตลาด การผลิตเบี้ยฯ และการรีครูทตัวแทนฯ ใหม่ ผ่านแคมเปญการตลาดที่หลากหลาย
"บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับตัวแทนประกันชีวิต เพื่อให้เป็น Digital Agent ที่พร้อมเป็น Life Solutions Partner สามารถดูแลชีวิตและวางแผนทางการเงินให้กับลูกค้าได้ในทุกช่วงชีวิต รวมถึงตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว" นายไชย กล่าว
นายไชย กล่าวต่อว่า ทางด้านช่องทางพันธมิตร มีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน โดยมี VONB เติบโตสูงถึง 41% เป็นผลจากการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด และความสำเร็จจากการกำหนดกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ร่วมกับพันธมิตร
สำหรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ นายไชย กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างกำไรในระยะยาว และมีความอ่อนไหวน้อยต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Participating Product ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์นี้จะผลักดันให้บริษัทฯ มีกำไรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ
นายไชย กล่าวด้วยว่า ไทยประกันชีวิต ยังคงมีอัตรากำไรสุทธิต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 8,020 ล้านบาท อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ลดลงเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของเบี้ยประกันภัยรับใหม่ ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตจะมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัยในปีแรก เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเบี้ยประกันรับปีแรก แต่จะเริ่มมีกำไรจากการรับประกันที่แข็งแกร่งในปีถัดๆ ไป เห็นได้จาก VONB Margin ที่เติบโตอย่างมากของบริษัทฯ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ไม่มีการขายประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งอัตราการเคลมสินไหมสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาจากสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด อย่างไรก็ดี อัตราการเคลมสินไหมสุขภาพจากโควิด-19 ของบริษัทฯ เริ่มลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี 2565
"อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ CAR Ratio ของบริษัทฯ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 358% สูงกว่าเกณฑ์ที่ สำนักงาน คปภ. กำหนดอยู่ที่ 140% ซึ่งเราให้ความสำคัญกับสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งอันเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน และแม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนพร้อมกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น แต่ ไทยประกันชีวิต ยังสามารถรักษาการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่และสถานะทางการเงินไว้ได้" นายไชย กล่าว
มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ชูหลัก ESG
กล่าวได้ว่า ปี 2565 เป็นอีกปีที่ ไทยประกันชีวิต มีความโดดเด่นอย่างชัดเจน ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่านช่องทางการการขายที่มีศักยภาพและหลากหลาย พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มุ่งสู่ "การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน" และเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความยั่งยืน สอดคล้องตาม Sustainable Development Goals : SDGs ของสหประชาชาติ โดย TLI ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบน 3 ด้านหลักของ ESG อันประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยแต่งตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (SD Committee) พร้อมกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้กับทุกหน่วยงานในไทยประกันชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นในเรื่องดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ TLI นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวันนี้ ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนของการดำเนินธุรกิจ ยังพบว่า TLI เป็นอีกหนึ่งองค์กรธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์จัดทำ "แผนแม่บทความรับผิดชอบต่อสังคม" มาตั้งแต่ปี 2551 และปรับปรุงสู่การเป็น "แผนแม่บทด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน" หรือ SD Master Plan ตั้งแต่ปี 2561 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เดินหน้าส่งมอบคุณค่าให้ Stakeholders ทุกภาคส่วน
สำหรับหัวใจสำคัญในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของไทยประกันชีวิตที่กำหนดไว้ คือการส่งมอบคุณค่าแห่งความยั่งยืน ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholders ทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 6 คุณค่าหลักที่สอดคล้องกับ Business Purpose การเป็น "Life Solutions Provider" หรือเป็นทุกคำตอบของการ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน และ Brand Purpose ที่มุ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความชื่นชอบ ความไว้วางใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคม ได้แก่
- ส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้า ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริการที่สามารถให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงการประกันชีวิต และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกระดับทุกชุมชนของสังคมไทย
- ส่งมอบคุณค่าให้กับพนักงานและตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทฯ มุ่งมั่นเสริมสร้างบุคลากรให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี และส่งมอบความรู้ด้านประกันชีวิต การวางแผนทางการเงินให้กับชุมชนในสังคม
- ส่งมอบคุณค่าให้คู่ค้าและพันธมิตร โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคู่ค้าที่ครอบคลุมประเด็น ESG ในส่วนพันธมิตรให้ความสำคัญเรื่องของธรรมาภิบาล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเป็นบริษัทประกันชีวิตที่คู่ค้าและพันธมิตรเลือก
- ส่งมอบคุณค่าให้ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน โดยส่งมอบผลตอบแทนการลงทุนที่ยั่งยืน และมีการจัดการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมประเด็น ESG
- ส่งมอบคุณค่าให้กับหน่วยงานกำกับดูแล เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุม มีการบูรณาการด้านธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและความปลอดภัยของข้อมูล หรือ PDPA
- ส่งมอบคุณค่าของชีวิต คุณค่าแห่งความรัก และคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นแก่นของธุรกิจประกันชีวิตให้แก่สังคมไทยและคนไทย โดยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
อย่างไรก็ดีในการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในลักษณะ Ecosystem เพื่อไปสู่เป้าหมายขับเคลื่อนองค์กรและสังคมให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนควบคู่กัน