ปชป.ผลัดใบ...ผู้นำใหม่กับงานหิน พาพรรคชนะเลือกตั้งในรอบ 24 ปี!
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังมาแรงแซงโค้งข่าวคนเบื่อ คสช. ก็คือ “ศึกใน ปชป.” ว่าด้วยการเลือกผู้นำพรรคคนใหม่
งานนี้แม้หน้าฉากของบรรดาแกนนำพรรคส่วนใหญ่จะยังคงออกปากสนับสนุน “เดอะมาร์ค - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ให้ทำหน้าที่ผู้นำพรรคต่อไป แต่ด้วยชั้นเชิงการเมืองระดับ “พรรคลายคราม” ย่อมเป็นที่รู้กันดีว่าถ้าชูหัวหน้าชื่อ “อภิสิทธิ์” ก็ปิดประตูชนะตั้งแต่ยังไม่หาเสียง
งานนี้จึงมีชื่อใหม่ขึ้นมาเลียบๆ เคียงๆ ตั้งแต่รุ่นใหญ่ “หล่อคลาสสิก” อย่าง ชวน หลักภัย ที่หลายคนเชื่อว่าจะเข้ามากอบกู้ศรัทธาพรรคครั้งใหญ่ และอาจแรงไกลถึงขั้นหวนกลับมาเป็นนายกฯรอบ 3
แต่ถึงวันนี้ “นายหัวชวน” ก็ยังออกปากหนุนอภิสิทธิ์ ทำให้หลายคนชักจะเชื่อตะหงิดๆ ว่าอดีตนายกฯ 2 สมัยลูกแม่ค้าขายพุงปลา อาจจะไม่ยอมรีเทิร์นกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบค่อนข้างแน่นอนแล้ว
ชื่อที่กำลังมาแรงแซงโค้งจึงกลายเป็น “อู๊ดด้า” อดีต ส.ส.พังงา นามว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นักการเมืองน้ำดีที่มีผลงานทั้งในสภาและเก้าอี้เสนาบดี ว่ากันว่าช่วงโค้งสุดท้ายนี้ เดินสายออกงานถี่ยิบผิดสังเกต
อีกชื่อที่ถูกพูดถึงไม่น้อยเช่นกัน ก็คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก เจ้าของผลงานเปิดโปงทุจริตโครงการจำนำข้าวล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่เจ้าตัวจะลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคในฐานะเป็นนอมินีใครหรือไม่นั้น ยังเป็นคำถาม
อีกชื่อที่โผล่ขึ้นมาและเรียกกระแสฮือฮาได้ไม่น้อย ก็คือ “เดอะจ้อน - อลงกรณ์ พลบุตร” แม้ล่าสุดจะถือเป็นข้าวนอกนา เป็นคนนอกพรรคไปแล้ว แต่ก็ต้องนับว่าเป็นอีกคนที่เลือดประชาธิปัตย์เข้มข้นไม่แพ้ใคร ทว่าชื่อถูกเปิดออกมาได้ไม่ทันไร ก็ถูกเตะตัดขาว่าเป็นคนที่ คสช.ส่งมายึดพรรคไปเสียแล้ว
เมื่อเอ่ยถึง คสช. ต้องบอกว่าความท้าทายของ ปชป.นับจากนี้ไป ไม่ใช่แค่จะเลือกใครขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค แต่โจทย์ข้อยากคือการประกาศจุดยืนทางการเมืองว่าจะยืนอยู่ข้างไหนมากกว่า เพราะศักยภาพของประชาธิปัตย์คือตัวแปรทางการเมืองที่แท้จริง หากหันไปจับมือกับเพื่อไทย โอกาสที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีเสียงสนับสนุนมากพอจนได้เป็นนายกฯอีกสมัยแทบปิดประตูตาย แต่การผสานมือกับ “พรรคทักษิณ” ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์การเมืองแบบเลือกข้างแบ่งขั้วเช่นนี้
แต่ถ้าประชาธิปัตย์หันไปจับมือกับพรรคทหาร ภาพการเป็น “พรรครับใช้เผด็จการ” ย่อมแจ่มชัด และคงไม่มีวันล้างออกให้หมดจดได้อีกแล้ว ซ้ำรอยการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารที่ดัน “เดอะมาร์ค” ขึ้นเป็นนายกฯทั้งๆ ที่ไม่เคยนำพรรคชนะเลือกตั้ง
โจทย์ข้อนี้ถูกผูกโยงกับโฉมหน้าหัวหน้าพรรคคนใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย ว่าประชาธิปัตย์ยุคผลัดใบ...จะเลือกยืนขั้วไหนในเวทีการเมือง
จุดยืนของพรรคจะส่งแรงสะเทือนถึงผลการเลือกตั้งด้วย เพราะการหย่อนบัตรแบบใหม่ ใช้ระบบ “บัตรเดียว” เพื่อเลือกทั้ง ส.ส.เขต และนำคะแนนไปคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ฉะนั้นภารกิจสำคัญของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ (หรืออาจจะเป็นคนเดิมหากอภิสิทธิ์รักษาแชมป์ได้) ก็คือการนำพาพรรคสู้ศึกเลือกตั้งครั้่งใหม่ หลังจากเมืองไทยไม่มีการเลือกตั้งมายาวนานเกือบๆ 5 ปี แต่ปัญหาคือสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ ในแง่ของการเอาชนะในสมรภูมิเลือกตั้ง ต้องบอกว่าเข้าขั้นวิกฤติจริงๆ
พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2489 นับถึงวันนี้ก็อายุอานามกว่า 72 ปีแล้ว
ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 7 คน ประกอบด้วย ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์, พิชัย รัตตกุล, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีระบบบริหารจัดการภายในดีที่สุดของประเทศ
หัวหน้าพรรค 7 คนนี้ มีถึง 4 คนที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แต่ปัญหาที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเผชิญอยู่ และเข้าขั้นวิกฤติแล้วก็คือ ตั้งแต่ ชวน หลีกภัย นำพรรคชนะเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535 และก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก พรรคก็ไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย โดยหลังจากที่รัฐบาลชวนยุบสภาจากปัญหา สปก.4-01 เมื่อปี 2538 นับถึงปัจจุบัน 23 ปี ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปอีก 6 ครั้ง (ไม่นับอีก 2 ครั้งที่เป็นโมฆะ คือ การเลือกตั้งทั่วไปปี 2549 กับปี 2557) แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย ประกอบด้วย
การเลือกตั้งวันที่ 2 ส.ค.2538 พรรคชาติไทยชนะเลือกตั้ง บรรหาร ศิลปอาชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งวันที่ 17 พ.ย.2539 พรรคความหวังใหม่ชนะเลือกตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งวันที่ 6 ม.ค.2544 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งวันที่ 6 ก.พ.2548 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 1 สมัย
การเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
แม้ว่าในห้วง 23 ปีที่ไม่ชนะเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นนายกฯอีก 2 ครั้ง ในปี 2540 กับ ปี 2551 คือ ชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่การขึ้นเป็นนายกฯเพราะชัยชนะจากสนามเลือกตั้งแล้วเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ทว่ามาจากปัญหาภายในสภา
ฉะนั้นการเลือกตั้งในปีหน้านี้ คือปีที่ 24 หากนับจากปี 2538 จะเป็นการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่น่าจับตาว่า พรรคประชาธิปัตย์จะผงาดขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะผู้ชนะจากสมรภูมิเลือกตั้งได้หรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวอดีต ส.ส.ทยอยลาออก ทั้งภาคใต้และ กทม. และยังมีคู่แข่งหน้าใหม่ในภาคใต้อย่าง “พรรคประชาชาติ” ของกลุ่มวาดะห์ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วย
นี่คืองานหินของ ปชป. และหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร