'มาดามเดียร์' อัดจำนำข้าว สร้างภาระผูกพันรัฐบาลประยุทธ์
“มาดามเดียร์” อัดจำนำข้าว สร้างภาระผูกพันรัฐบาลประยุทธ์
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.62 น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานมากมาย โดยนำเงินมาจากการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) งบประมาณปี 2563 ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนปี 2558-2565 รวม 1.9 ล้านล้านบาท เน้นการสร้างโครงสร้างคมนาคม เพราะเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างการแข่งขันกับต่างชาติ รัฐบาลไม่สามารถทำเพียงองค์กรเดียวได้ แต่ต้องพึ่งพาเอกชนเป็นแขนขา เพื่อขยายเศรษฐกิจไปข้างหน้า ทั้งนี้เอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องกลับมาดูแลชุมชน ถึงจะเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นการพิจารณางบประมาณในวันนี้ถือเป็นการทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
น.ส.วทันยา กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.งบประมาณในครั้งนี้ หลายฝ่ายอาจจะเป็นห่วงเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำ 2.3 ล้าน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมด ประมาณ 75% ของต้นทุน หรือรายจ่ายทั้งหมดของงบประมาณ จาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล อาจจะก่อให้เกิดความกังวลเรื่องรายจ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุน เพราะจะสะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ยังกังวลว่าการทำงบขาดดุลของรัฐบาล อาจจะเกิดหนี้สาธารณะ โดยบางคนได้กล่าวว่าสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีหนี้สาธารณะสูงที่สุด ซึ่งหากมองภาพรวมอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่หากดูรายละเอียดจะพบความจริง ว่า ถ้าเปรียบเทียบระหว่างสองรัฐบาลคือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ปีงบประมาณ 2555 -2557 มีการกู้เงินทั้งสิ้น 950,000 ล้าน เฉลี่ยแล้วมีการใช้เงินกู้ปีละ 4.5 แสนล้าน ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตั้งวงเงินกู้ไว้ทั้งสิ้น 2.1ล้านล้าน แต่เบิกกู้จริงเพียง 2.04 ล้านล้าน ดังนั้นเมื่อหารจากปีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้บริหารงบประมาณตั้งแต่ปี 2558-2562 รวม 5 ปี พบว่าค่าเฉลี่ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณปีละ 408,000 ล้านบาท
น.ส.วทันยา ยังกล่าวต่อว่า เมื่อดูค่าเฉลี่ยต่อปีพบว่ามีการกู้เงินน้อยกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปีละ 38,000 ล้านบาท และหากยังจำได้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มี 1 โครงการที่เป็นที่กล่าวขานไปทั่วประเทศ นั่นก็คือ โครงการรับจำข้าว ซึ่งขณะนั้นตัวเลขเงินกู้ไม่ได้ปรากฎในร่างงบประมาณ เพราะเป็นการกู้จากงบประมาณกึ่งการคลัง ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังได้มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ซึ่งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีหนี้จากโครงการจำนำข้าว 8.8 แสนล้านบาท ซึ่ง 1 ในภาระเงินกู้ที่รัฐบาลต้องจัดสรรในทุกๆ ปี ส่วนหนึ่งมาจากต้องไปชดใช้ในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือ 7.5%จากเงินกู้ทั้งหมดของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์