สภาดิจิทัลฯ ยก 'อีคอมเมิร์ซ-5จี' ปี 2563 แรง
สภาดิจิทัลฯ ชี้แนวแนวอุตฯดิจิทัลมาแรงปี 63 ยก “อีคอมเมิร์ซ-5จี” น่าจับตามากที่สุด ระบุมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยโตพุ่งแตะ 7.4 แสนล้านบาท ขณะที่ 5จี คือกลไกสำคัญยกระดับโครงสร้างพื้นฐานหนุนการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนท์ ส่งสัญญาณไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มตัว
สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดข้อมูลภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลปี 2563 พบว่า กลุ่มธุรกิจดิจิทัลที่มาแรง ได้แก่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซซึ่งไทยเติบโตสูง คิดเป็นมูลค่า 748,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตเฉลี่ย 20-30% ในระหว่างปี 2560-2562 กลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คือ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร 3.ธุรกิจเครื่องสำอางและอาหารเสริม จากความนิยมของบริการออนไลน์ เดลิเวอรี่ เช่น ไลน์แมน และแกร็บ พบว่า ไลน์แมนมียอดใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 300% และมีผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านคนต่อเดือนภายในระยะเวลา 2 ปี
ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ถูก ดิสรัป และได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมโทรทัศน์ ที่มูลค่าลดลงจาก 115,000 ล้านบาทปี 2557 สู่ 57,000 ล้านบาทในปี 2561 และสูญเสียผู้รับชมจนมีการคืนใบอนุญาตดิจิทัลทีวี จากการทดแทนของแพลตฟอร์มโอทีที (OTT) ทางดิจิทัล เช่น เน็ตฟลิกซ์ และยูทูบ ที่เริ่มลงทุนให้บริการและผลิตคอนเทนท์สำหรับประเทศไทย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเงินที่ถูกดิสรัปด้วย ดิจิทัลแบงกิ้ง และฟินเทค
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ (AI) จะดิสรัปรูปแบบการทำงานเดิมๆ ส่งผลให้ความต้องการจ้างงานลดลง คาดว่างาน 7 ล้านตำแหน่งในประเทศอังกฤษจะถูกแทนที่ด้วยเอไอภายใน 17 ปี และเอไอจะเข้าไปแทนที่ครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานต่างๆ ที่มีในสหรัฐได้ภายในช่วง 10 ถึง 20 ปีนี้
อุตสาหกรรมดิจิทัลที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ไฟเบอร์ ออฟติกกลายมาเป็นเทคโนโลยีหลักเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบ้านเมื่อเทียบปี 2561 ไฟเบอร์ออฟติกมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 14.85% ส่วนเคเบิล บรอดแบนด์มีอัตราลดลง 18.30% และเอ็กซ์ดีเอสแอลลดลง 7.03%
ส่วนดิจิทัลเทรนด์ที่น่าจับตามอง ได้แก่ เทคโนโลยี 5จี ที่ยกระดับเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันและส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนท์ บ่งบอกว่าไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว 5จี มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า 4จี ถึง 10 เท่า เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนท์ รวมไปถึงระบบออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลได้กลายมาเป็นสมรภูมิหลักของ เทรด วอร์ ระหว่างกลุ่มประเทศมหาอำนาจ และทำให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญ เช่น การย้ายฐานการผลิตของเทคโนโลยีดิจิทัลออกจากจีนไปสู่ประเทศที่ไม่ได้มีปัญหากับสหรัฐ เช่น อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งไทยอาจได้รับผลในเชิงบวก ขณะที่ ความพยายามหลายประเทศที่จะคานอำนาจทางเศรษฐกิจของธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐฯ เช่น มาตรการจีดีพีอาร์ (GDPR) ของยุโรป เพื่อเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้ภายในประเทศ หรือกฎหมาย Internet Sovereignty เพื่อรักษาอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย จะกลายเป็นแบบอย่างให้ไทยนำมาศึกษาเพื่อพัฒนาให้มีมาตรฐานและความสามารถทางการแข่งขันเทียบเท่ากับระดับสากล
ขณะที่ ความพยายามของหลายประเทศที่จะคานอำนาจทางเศรษฐกิจของธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐฯ เช่น การออกมาตรการ GDPR ของยุโรปเพื่อเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้ภายในประเทศ หรือกฎหมาย Internet Sovereignty เพื่อรักษาอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย จะกลายเป็นแบบอย่างให้ประเทศไทยนำมาศึกษาเพื่อพัฒนาให้มีมาตรฐานและความสามารถทางการแข่งขันเทียบเท่ากับระดับสากล
กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับดิจิทัล จะถูกบังคับใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในเรื่องนี้
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ผู้ประกอบการที่เคยเก็บข้อมูลของลูกค้า ลูกจ้าง ผู้มาติดต่อ หรือเคยนำข้อมูลมาเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาการขายหรือการให้บริการจนเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ หลักการที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจเพื่อปรับตัวให้ทัน เช่น การเก็บ การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเสมอ แม้แต่การส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปให้บุคคลอื่นก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อน
พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 กำหนดให้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (Critical Infrastructure หรือ CI) 8 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มความมั่นคง 2) กลุ่มบริการภาครัฐที่สำคัญ 3) กลุ่มการเงินการธนาคาร 4) กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม 5) การขนส่งและโลจิสติกส์ 6) พลังงานและสาธารณูปโภค และ 7) กลุ่มสาธารณสุข 8) ด้านอื่นๆ ที่คณะกรรมการกำหนด จำเป็นต้องยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับมาตรฐานที่ของจากสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute of Standard and Technology : NIST) อาทิ การจัดทำประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น