คลินิกเสริมความงามฟื้น หลังปลดล็อก เปิดบริการได้
ระหว่างการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลาดความงามถูกชะลอการให้บริการเช่นเดียวกับบริการสาธารณสุขที่ไม่เร่งด่วน ส่งผลให้ตลาดหยุดชะงัก แต่หลังจากมีการผ่อนปรนให้คิลนิกความงามเปิดได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามที่รัฐกำหนด ทำให้ตลาดความงามโดยเฉพาะผิวหนังกลับมา 80-90%
ศูนย์ศัลยกรรมความงามและผิวพรรณ บริษัท เอเมด อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยตลาดธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงามของประเทศไทย ปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 250,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง 15-20% ทุกปี คิดเป็นสัดส่วนตลาดคลินิกความงามราว 30,000 ล้านบาท และโดยเฉพาะตลาดศัลยกรรมความงามที่มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี ทว่าในปี 2563 วิกฤติโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไปพักใหญ่จากการระบาด รวมไปถึงอุตสาหกรรมความงามที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ
รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดความงาม มีการเติบโตที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเปิดกว้าง รวมถึงแพทย์ และผู้ให้บริการก็มีเพิ่มมากขึ้น เรียกว่าเทรนด์เติบโต กระทั่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 คนส่วนใหญ่งดการทำหัตถการที่ไม่จำเป็น และอุตสาหกรรมความงามโดยรวมทั้งผิวหนังและศัลยกรรม ซึ่งคลินิกส่วนใหญ่ที่ทำเกี่ยวกับความงามโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับการรักษาโรคจึงต้องปิดไปตามรัฐบาลกำหนด
“เมื่อรัฐบาลมีการผ่อนปรนให้เปิด ในภาพรวมจึงเริ่มกับมาอยู่ในระดับเกือบจะเท่าเดิม ตลาดที่กระทบจริงๆ คือ ธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับชาวต่างชาติเป็นหลัก เช่น ศัลยกรรมตกแต่งในส่วนที่ต่างชาตินิยมมาใช้บริการ คลินิกความงามแถวภูเก็ตที่เคยคึกคัก ตอนนี้ยังไม่กลับมา แต่ในทางตรงกันข้าม คลินิกที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย ไม่ได้เน้นต่างชาติเป็นหลัก เช่น คลินิกผิวหนัง คาดน่าจะฟื้นกลับมา 80-90%”
ด้านการรักษาโรคทางผิวหนังในโรงพยาบาล เช่น ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง รพ.ศิริราช ขณะนี้ได้กลับมาเปิดให้บริการปกติตามที่รัฐบาลกำหนด โดยผู้ป่วยกลับมา 100% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยชาวไทย ขณะที่ต่างชาติ เช่น รักษาโรคมะเร็งผิวหนัง หรือ อาศัยอยู่ที่เมืองไทย สามารถมารักษาได้ปกติเช่นกัน
ระหว่างการปลดล็อก สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำข้อกำหนดมาตรการการจัดระเบียบคลินิกความงาม เพื่อให้มีความปลอดภัย หรือ To Be Safety ทั้งกับคนไข้และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และลดความเสี่ยงของการทำหัตถการ เป็นระเบียบมาตรฐานใหม่ New Norm ทั้งเรื่องการจำกัดจำนวน เวลาการให้บริการ การทำความสะอาดในคลินิก ดูแลการตรวจแล็ป
“การทำหัตถการด้านความงาม ต้องมีความระวังมากขึ้น ในคลินิก ต้องแต่งตัวป้องกันลดการแพร่กระจายการติดเชื้อ เช่น แพทย์ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ต้องแต่งตัวรัดกุม ป้องกันการติดเชื้อ อาจจะไม่ต้องเป็นชุด PPE แต่ต้องเป็นชุดสำหรับการทำหัตถการโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ถือเป็นมาตรฐานในคลินิก”
ซึ่งจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ในเอเชียโดย Global COVID-19 Index (GCI) ในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 จาก 184 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
ทั้งนี้การให้บริการด้านเสริมความงามหากประเทศไทยจะเดินหน้าสู่ Medical and Wellness Tourism รศ.พญ.รังสิมา ให้ความเห็นว่าในเรื่องของมาตรฐาน ต้องเน้นเรื่องของการป้องกันในประเทศ ถ้ามีคนไข้เข้ามาต้องมีระบบในการ Quarantine หรือ Screening ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นมาตรฐาน
รวมทั้ง “การรักษามาตรฐานทางการแพทย์” ที่ได้มาตรฐาน ใช้ยา เครื่องมือ ที่ได้มาตรฐานผ่าน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งปัจจุบัน มีแพทย์ผิวหนัง ที่จบด้านนี้จริงๆ ทั้งประเทศราว 600 คน ต้องเรียนแพทย์ 6 ปี หลังจากนั้นต้องออกไปทำงานใช้ทุน 3 ปี และ เข้ามาเรียนผิวหนังทั้งหมด 4 ปี และ 1 ปีแรกต้องไปอยู่อายุรศาสตร์ อยู่ในแผนกผิวหนัง 3 ปีเต็ม ในหนึ่งปี จะมีแพทย์ผิวหนังจบใหม่ราว 20 คน ทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของแพทยสภาฯ รวมถึงในเว็บไซต์สมาคมแพทย์ผิวหนัง
- มาตรการคลินิกเสริมความงาม
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำมาตรการคลินิกเสริมความงาม โดยมีฐานข้อมูลจากเว็บไซต์ของ CDC และ องค์การอนามัยโลก (WHO) 5 ด้านได้แก่ มาตรการด้านเจ้าหน้าที่ ห้ามเดินทางต่างประเทศ หากจำเป็นต้องกักตัว 14 วัน วัดอุณหภูมิเจ้าหน้าที่อย่างน้อยวันละ 2 รอบ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ สำหรับในห้องทำหัตถการ ต้องคลุมเครื่องมือและโต๊ะด้วยพลาสติกและเปลี่ยนทุกครั้ง เจ้าหน้าที่สวมชุดและเครื่องมือป้องกันที่เหมาะสม เช่น ถุงมือ ชุดคลุม หมวกคลุมหัว แว่นตา หน้ากาก และ Face Shield ใช้เครื่องดูดควันทุกครั้งเมื่อทำหัตถการที่เกิดควัน หลังเสร็จหัตถการ ถอดทิ้งชุดและเครื่องมือป้องกัน ล้างมือทุกครั้งหลังถอดถุงมือ
มาตรการด้านสถานที่ ต้องคลุมเครื่อง โต๊ะ เตียงด้วยผ้าหรือพลาสติกที่เปลี่ยนได้ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาที่ฆ่าเชื้อไวรัสโควิดได้ เช่น ethanol 62-71% หรือ hydrogen peroxide 0.5% หรือ sodium hypochlorite 0.1% มาตรการเรื่องห้องน้ำ ต้องมอบหมายเจ้าหน้าที่ในการทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้ง ตั้งแต่ก๊อกน้ำ ชักโครก ฝารองนั่ง เมื่อมีการใช้งานต้องมีถังขยะเพื่อเก็บแยกขยะให้ดีและทำการทิ้งตามระเบียบของกรมอนามัย มาตรการการทิ้งขยะ ถอดทิ้งชุดและเครื่องมือป้องกันทุกอย่างอย่างถูกต้องและปลอดภัย คัดแยก ทิ้งอุปกรณ์และขยะทางชีวภาพตามข้อบังคับของกรมอนามัย