จากเคส ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ รู้ไหมว่า ‘Sexual Harassment’ ไม่ได้มีแค่การลวนลาม
จากเคสพนักงานฝึกงาน "บาร์บีคิวพลาซ่า" ถูกผู้จัดการร้านคุกคามทางเพศผ่านโซเชียล สู่การถอดบทเรียน "Sexual Harassment" ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา แต่สถานที่ที่มีอัตราการเกิดการคุกคามทางเพศมากที่สุดกลับกลายเป็น ‘บ้าน’ และ ‘ที่ทำงาน’
แม้เรื่องเพศจะเป็นหนึ่งในกลไกธรรมชาติของมนุษย์ในการสืบพันธุ์ แต่เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการทางด้านสังคม ความรู้ และความคิดจนถึงยุคปัจจุบัน ‘เรื่องเพศ’ จึงไม่ใช่ว่า ‘ใครจะทำอะไรก็ได้’ เหมือนเมื่อ 300 ปีก่อน แต่เรื่องเพศในสังคมยุคปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ข้ามเส้นกันและกัน เกิดการรณรงค์ไม่ให้มีการคุกคามทางเพศ หรือที่เรียกว่า "Sexual Harassment" ในทุกพื้นที่
สำหรับคำว่า การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) พจนานุกรมไทย ได้ให้ความหมายของคำนี้ไว้ว่า “การกระทำหรือพฤติกรรมทางเพศ ที่ผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและไม่ต้องการ โดยการคุกคามทางเพศอาจอยู่ในรูปของการแสดงออกทางวาจา กิริยาท่าทาง หรือการสัมผัสทางร่างกาย อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองที่มีเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง”
และรู้หรือไม่? การคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกที่ ทุกเวลา แต่พบว่าสถานที่ที่มีอัตราการเกิดการคุกคามทางเพศมากที่สุดกลับกลายเป็น ‘บ้าน' และ ‘ที่ทำงาน’
กรณีล่าสุด.. เกิดเหตุว่าพนักงานฝึกงานร้าน บาร์บีคิวพลาซ่า สาขาหนึ่ง เข้าไปเตือนผู้จัดการสาขาที่แสดงพฤติกรรมคุกคามทางเพศผ่านกรุ๊ปแชทในโซเชียลมีเดีย แต่เธอกลับโดนลบชื่อจากกรุ๊ปแชท พร้อมไล่ออกจากที่ฝึกงาน เมื่อบริษัทต้นทางทราบเรื่อง จึงออกหนังสือแจ้งให้ผู้จัดการสาขาคนดังกล่าว "พ้นสภาพ" การเป็นพนักงานโดยมีผลทันที ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ยังมีคำถามจากชาวโซเชียลมีเดียบางส่วนที่สับสนว่า เส้นแบ่งระหว่าง ‘การคุกคาม’ และ ‘ไม่คุกคาม’ เป็นอย่างไร
- การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน มีกี่ประเภท?
การแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ บุคคลทั่วไปอาจไม่ทันได้สังเกต หรือรับรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามทางเพศ วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายว่าการคุกคามทางเพศสามารถจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การคุกคามทางเพศที่มีเงื่อนไขเป็นข้อแลกเปลี่ยน (Quid Pro Quo Harassment) ซึ่งเป็นคำพูดที่มักเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “หมูไปไก่มา” หรือ “ยื่นหมูยื่นแมว” การคุกคามทางเพศในรูปแบบนี้มีลักษณะเป็นการนำเงื่อนไขในเรื่องของการทำงาน ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ หรือส่วนได้เสียมาต่อรอง เช่น การขึ้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง
2. การคุกคามทางเพศโดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนาในที่ทำงาน (Hostile Environment Harassment) หมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร ก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายใจ โดยมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น การติดภาพหญิงในสภาพโป๊เปลือยไว้ในสถานที่ทำงาน การเขียนข้อความในเรื่องเพศไว้ในที่ทำงาน การนำภาพลามกอนาจารไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือสรีระร่างกายของลูกจ้างหญิง ฯลฯ
นอกจากนี้ ผศ. ชลาธิป ชาญชัยฤกษ์ แห่งสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีการพูดถึง textual harassment ซึ่งมาจากคำว่า texting + sexual harassment มีความหมายว่าการคุกคามด้วยการส่งข้อความซ้ำๆ โดยบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในหมู่เด็กวัยรุ่นที่นิยมส่งข้อความทางโทรศัพท์
ผลลัพธ์ของการคุกคามทางเพศไม่ว่าจะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งตามข้างต้นนี้ แน่นอนว่าเหตุการร์นั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
- "คุกคามทางเพศ" ผิดกฎหมายอะไรบ้าง?
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีกฎหมายและระเบียบควบคุมการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ทั้งในระบบภาครัฐ และบริษัทเอกชน โดย ประมวลกฎหมายอาญาของไทยได้บัญญัติความผิดทางเพศไว้ 4 ฐานความผิดหลัก ประกอบด้วย
- ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา
- ความผิดฐานกระทำอนาจาร
- ความผิดฐานค้าบุคคลเพื่อความใคร่
- ความผิดฐานค้าสิ่งลามก
โดยหากมีการกระทำที่มีความผิดทางเพศตามมาตรา 276-287 ทั้ง 4 ฐานดังกล่าว จะได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000-40,000 บาท
ในส่วนของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนด หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศไว้ใน มาตรา 16 ความว่า “ห้ามมิให้ นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง”
หากกระทำความผิดทางเพศ ในมาตรา 16 จะมีความผิดพ่วงตามมาตรา 147 ซึ่งโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับข้าราชการ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือ กฎ ก.พ. ก็มีการระบุในมาตรา 83 โดยโทษทางวินัยมี 5 สถาน ไล่ตั้งแต่ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน ปลดออก และโดนไล่ออกในขั้นร้ายแรงที่สุด
- เมื่อโดนคุกคามทางเพศ ต้องทำยังไง?
คำถามสำคัญคือเมื่อเราโดนคุกคามทางเพศไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ผู้ถูกกระทำจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เรื่องนี้มีคำแนะนำจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เคยระบุไว้ว่า อย่างแรกต้องตั้งสติให้ดี แสดงออกให้ผู้กระทำรู้ว่าคุณรู้ตัว และไม่ยินยอม รวมถึงการส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
นอกเหนือจากนี้คือการแจ้ง หรือร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน ถ้ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถโทรแจ้งหน่วยงานอื่นๆ ภายนอก เพื่อแจ้งร้องทุกข์ได้เช่นกัน เช่น
- แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย โทร 191
- มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร 02-5131001
- มูลนิธิปวีนา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี โทร 1134
- สหทัยมูลนิธิ กรุงเทพฯ โทร 02-381-8834-6
- มูลนิธิผู้หญิง กรุงเทพฯ โทร 02-2433-5149 ,02-435-1246
- ศูนย์ปรึกษาปัญหาทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ 1300 call center
--------------------
อ้างอิง :