ทำไม ‘JD.com’ จึงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ ‘Alibaba’
ท่ามกลางสมรภูมิ "อีคอมเมิร์ซ" บิ๊กแพลตฟอร์มหลายรายเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด หนึ่งในเจ้าตลาดคือ "เจดีดอทคอม" (JD.com) ที่เขย่ามาเขย่าบัลลังก์เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซของ Alibaba เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จุดเด่นคืออะไร?
แทบทุกคนรู้จัก “อาลีบาบา (Alibaba)” ในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของจีน และอันดับต้นๆ ของโลก แต่ถ้าพูดถึงอันดับ 2 ต้องยอมรับว่าเวลานี้ “เจดีดอทคอม (JD.com)” หรือ “Jingdong” คือคู่แข่งที่มาแรงที่สุดในประเทศจีน ที่จะมาเขย่าบัลลังก์เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซของ Alibaba ที่สำคัญคือ พวกเขายังมี Tencent เป็นแบ็กอัพอีกด้วย
ที่มาของบริษัท JD.com ก่อตั้งโดย ริชาร์ด หลิว (Richard Liu) ซึ่งอันที่จริงแล้วบริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2531 เพียงแต่ว่าเดิมทีบริษัทแห่งนี้เป็นเพียงร้านขายอุปกรณ์ไอทีในเมืองปักกิ่งเป็นหลัก
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2547 เมื่อหลิวตัดสินใจเข้ามาสู่ธุรกิจเว็บอีคอมเมิร์ซเพื่อตามให้ทันกับกระแสของโลกอินเทอร์เน็ตในเวลานั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าเขาน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการทำธุรกิจของบริษัทอะเมซอน เจ้าพ่อของวงการอีคอมเมิร์ซระดับโลก และเป็นบริษัทที่มีมูลค่าอันดับหนึ่งในเวลานี้ด้วย
สำหรับการเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซ ในเริ่มแรก หลิวเลือกที่จะเน้นการลงทุนในด้านระบบโลจิสติกส์เป็นหลัก ซึ่งแนวทางการลงทุนของเขาเชื่อกันว่าได้แนวคิดมาจากอะเมซอน นั่นคือการมุ่งเน้นไปที่ศูนย์กระจายสินค้าในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันเจดีก็มีศูนย์กระจายสินค้าในจีนมากเกือบ 7,000 แห่ง มีพนักงานส่งสินค้าราว 70,000 คน จากพนักงานทั้งหมดราว 120,000 คน
ดังนั้นในแง่ความโดดเด่นของเจดีก็คือ การจัดส่งสินค้าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1 วัน ไปทั่วทุกเมืองและมณฑลของจีน ซึ่งแนวทางจากแตกต่างจากอาลีบาบาอยู่บ้าง ในแง่ที่ อาลีบาบาจัดว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการกับผู้ค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีต่างๆ เพื่อเข้ามาใช้ช่องทางการขายสินค้า แต่ทางเจดีเป็นผู้จัดจำหน่ายเองคล้ายกับแนวทางในการบุกเบิกของอะเมซอน
กระทั่งในปี 2557 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเจดีดอทคอม หลังจากที่เทนเซ็นต์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของจีน ซึ่งค่อนข้างล้มเหลวจากสงครามอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนตัดสินใจทุ่มซื้อและลงทุนซื้อหุ้นกว่า 15% ใน JD.com พร้อมโอนธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเทนเซ็นต์ทั้งหมดให้ JD.com ดูแล จึงส่งผลให้จำนวนลูกค้าของ JD.com เพิ่มเป็น 90 ล้านคน จากก่อนหน้าที่มีเพียง 47.4 ล้านคน ทั้งทำให้บริษัทมีเงินทุนสนับสนุนครั้งสำคัญ
หลังจากนั้นปี 2559 มาถึงอีกก้าวที่สำคัญด้วยการจับมือกับร่วมกับบริษัท Walmart ห้างสรรพสินค้าค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ โดยสาเหตุมาจากความล้มเหลวของทาง Walmart ที่ไม่สามารถบุกเจาะตลาดจีนได้สำเร็จ จึงได้ขายกิจการให้กับ JD.com โดยเป้าหมายหลักคือ เพื่อแลกกับการเข้าถือหุ้น 5.9%
ครั้งนี้ทาง JD.com ก็ได้ใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าของวอลมาร์ทในหลายเมืองใหญ่ของจีน โดยเฉพาะเมืองระดับเทียร์ 1-2 เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เสิ่นเจิ้น ฯลฯ ทั้งยังได้สินค้าจากวอลมาร์ทเข้ามาเติมบนหน้าเว็บ จึงส่งผลทำให้สินค้าจากวอลมาร์ทได้รับโอกาสขายไปในเมืองเล็กๆ ในจีนเพิ่มเติม จากนั้น Walmart ก็ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 10.8% ขึ้นมาอีก
นอกจากธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ที่เป็นตัวชูโรงแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา JD.com ก็ได้ขยายอาณาจักรด้านการเงินออกมาต่อกรกับแอนท์ ไฟแนนเชียลของอาลีบาบา ภายใต้ชื่อว่า “JD Finance” ทำธุรกิจฟินเทคให้บริการทั้งเงินกู้ ประกัน และหลักทรัพย์อีกด้วย
นอกจากนี้ ขยายขอบเขตของธุรกิจสู่วงการคลาวด์ และเริ่มทดลองการใช้โดรนให้บริการเพื่อส่งสินค้า ซึ่งทางซีอีโออย่างหลิวก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ระบบการส่งสินค้าแบบอัตโนมัติจะเป็นจุดแข็งใหญ่ของบริษัท รวมถึงการประยุกต์ใช้เอไอเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า
สำหรับการบุกตลาดต่างประเทศ ทาง JD.com เลือกเปิดเกมรุกธุรกิจใน รัสเซีย ตามด้วย ญี่ปุ่น และสหรัฐ แม้ว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จอย่างที่ควร แต่ที่มีอนาคตอย่างมากก็คือการบุกตลาดของกลุ่มประเทศอาเซียน
อย่างการจับมือกลุ่มเซ็นทรัล ลงทุนขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทคในประเทศไทย โดยลงทุนร่วมกันเม็ดเงิน 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้าง JD.Central และหวังว่าจะผลักดันตลาดในไทยในฐานะของการเป็นฮับอีคอมเมิร์ซแห่งอาเซียน โดยมุ่งเป้าหมายไปที่คตลาดคนชั้นกลาง
ส่วนกลยุทธ์การเปิดเกมรุกเพื่อแข่งขันและสร้างตัวตนระดับโลก ใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้กับเว็บไซต์ในเครือของ JD.com ทำให้ผู้คนจดจำได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความประทับใจในการใช้บริการที่เน้นความรวดเร็ว สะดวก และที่สำคัญคือการส่งพัสดุมีคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
ล่าสุด จบไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายงานจาก CIW ว่า เจดีได้เพิ่มขอบเขตการให้บริการรวมแล้วมากกว่า 2,400 แห่ง กระจายทั่วประเทศจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอันดับสองของจีน รองจากอาลีบาบาเท่านั้น
สำหรับในไทย คงต้องจับตาดูการรุกคืบของทางเจดีดอทคอมว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ขณะที่คู่แข่งอย่างอาลีบาบาก็กำลังรุกคืบในไทยและอาเซียนอย่างหนักเช่นกัน