ประกาศ ‘ปิดอ่าวไทย’ ชี้ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 30 ล้าน
กรมประมงประกาศ “ปิดอ่าวไทย” พื้นที่บางส่วนของ “ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี” ชี้ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 30 ล้าน
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.64 กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทย ตอนกลาง ครอบคลุมเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 90 วัน ต่อด้วยเขตชายฝั่งทะเลตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2564 เป็นระยะเวลา 30 วัน เผยผลการดำเนินมาตรการฯ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการ “ปิดอ่าวไทย” เป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในฝั่งทะเลอ่าวไทย มีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน และเป็นมาตรการที่สำคัญและเป็นภารกิจหลักของกรมประมงที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 68 ปี โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงดำเนินมาตรการอนุรักษ์เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน และให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง
โดยมอบนโยบายการปฏิบัติงานยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลวิชาการ ประกอบกับการสำรวจและสุ่มเก็บตัวอย่าง ปลาทู ในช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยในรอบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ห้วงเวลา พื้นที่ และเครื่องมือที่อนุญาตให้ทำการประมง มีความเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรการปิดอ่าว และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนี้
ช่วงเวลา 15 ก.พ.-15 พ.ค. ระยะเวลา 90 วัน เขตพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พบว่า พ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศ และพร้อมผสมพันธุ์ และมีการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลัง และปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก
ช่วงเวลา 16 พ.ค.-14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน
- เขตชายฝั่งทะเลตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและสุราษฎร์ธานี พบลูกปลาวัยอ่อนที่เกิดบริเวณพื้นที่มาตรการมีโอกาสเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง
- เขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบลูกปลาขนาดเล็ก เดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อรักษาปลาทูสาวให้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ และพร้อมเดินทางลงไปผสมพันธุ์วางไข่ในช่วง ก.พ. (ปิดอ่าวไทย) ปีต่อไป
จึงแสดงให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวนี้สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลอ่าวไทยให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพ และประชาชนคนไทยได้มีสัตว์น้ำบริโภคอย่างยั่งยืน
ดังนั้น ในปี 2564 นี้ กรมประมงยังดำเนินมาตรการปิดอ่าวไทย ในช่วงเวลาและพื้นที่เดิม โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมง บางชนิด ซึ่งเป็นของกลุ่มประมงขนาดเล็ก และไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวไทย ดังนี้
(1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
(2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้ว กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น
(3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง
(4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
(5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
(6) ลอบหมึกทุกชนิด
(7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน. สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง
(8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
(9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ
(10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
(11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้น อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่ไม่สามารถทำการประมงได้
โดยช่วงระยะเวลาปิดอ่าว 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2564 อนุญาตให้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ไม่ได้จำกัดความยาวของเรือที่ใช้ทำการประมง และเวลาในการทำการประมง ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งของพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และอนุญาตให้เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ประกอบเรือกลที่มีขนาด 10 ตันกรอส สามารถทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง บริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้
สุดท้ายนี้ ขอฝากพี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมง โดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด
“หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย กรมประมงยังมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ในแต่ละห้วงเวลานั้นช่วยทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่า และเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ดังคำขวัญที่ว่า คุ้มครองปลามีไข่ อนุรักษ์ไว้ใช้อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมประมงกล่าว