สธ.เผย "ตลาด" การ์ดตก เตือนใส่ "หน้ากากอนามัย" ให้ถูกต้อง
สธ.เผยภาพรวมการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้ติดเชื้อลดลง แต่ "ตลาด" หลายแห่งการ์ดตก พบผู้ใส่ "หน้ากากอนามัย"ใต้คาง ขณะที่ "สงกรานต์" เยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ระวังนำเชื้อไปติด
วานนี้ (28 มี.ค.2564 ) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 77 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,734 ราย หายป่วยแล้ว 27,239 ราย ยังรักษาในรพ. 1,401 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 94 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบใหม่ สะสม 24,497 ราย แบ่งเป็นการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 16,040 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 7,184 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,273 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 34 ราย
- ภาพรวมการระบาด "โควิด-19" การติดเชื้อเริ่มลดลง
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงสถานการณ์โรค "โควิด-19" ในประเทศไทย ว่าขอแสดงความเสียใจแก่ผู้เสียชีวิต 1 ราย จากโรค "โควิด-19" ซึ่งภาพรวมของการติดเชื้อยังคงพบผู้ป่วย "โควิด -19" ในพื้นที่หลักอย่าง สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี ขณะที่ พื้นที่บางแค กรุงเทพฯ นั้น จากการดำเนินงานการสอบสวนโรคอย่างใกล้ชิด ของสำนักอนามัย กทม. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทำให้ขณะนี้ ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมยังพบการระบาดในพื้นที่ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร แต่ล่าสุดการติดเชื้อเริ่มลดลง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า เขตที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เขตบางขุนเทียน 93.0 ต่อประชากรแสนคน เขตภาษีเจริญ 89.6 ต่อประชากรแสนคน เขตบางแค 77.0 ต่อประชากรแสนคน เขตปทุมวัน 41.9 ต่อประชากรแสนคน และเขตบางรัก 41.5 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจตลาดหลายแห่ง ไม่เพียงแต่บางแค พบว่า ส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ใส่ไม่ถูกต้องถึง 1 ใน 3 โดยใส่ใต้ค้าง คล้องไว้ที่คอ และเว้นระยะห่างค่อนข้างยาก
- เผย "ตลาด" หลายแห่ง "การ์ดตก" เตือนใส่หน้ากากให้ถูกต้อง
ขณะที่ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ดูแลตลาด ร้านขายของชำ ตัวแทนชุมชน พบว่า แผงขายอาหารแต่ละชนิดอยู่ปะปนกัน ไม่ได้จัดหมวดหมู่ ลูกค้าและคนส่งของเข้าออกตลาดหลายทาง พนักงานเก็บเงินห้องน้ำ พนักงานตลาด พนักงานรักษาความปลอดภัยมีการติดเชื้อไปด้วย เพราะเจอคนในตลาดทั้งหมด บางแผงขายไม่มีการทำความสะอาด และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ การใส่"หน้ากากอนามัย"ไม่ถูกต้อง พูดคุยใกล้ชิดกัน ร้องเรียกตะโกน สัมผัสใกล้ชิดกัน ถ่มน้ำลาย บ้วนน้ำหมาก ลูกจ้างอยุ่กันเป็นกลุ่ม
“ขอความร่วมมือทุกตลาด ให้ปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด อย่ากระทำตามตัวอย่างที่ได้กล่าวมา อยากให้เป็นบทเรียนซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่แค่กทม. จังหวัดใกล้เคียงก็ด้วย อย่าง ปทุมธานี หรือแม้แต่ตลาดในนนทบุรีก็พบลักษณะนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งการปิดตลาด ปรับปรุงสุขาภิบาล มีมาตรการค้นหาเชิงรุก มีการออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิด ก่อนอนุญาตให้เข้าขายของในตลาด ติดตามตรวจซ้ำ 1 เดือน” นพ.โอภาส กล่าว
- ย้ำ "สงกรานต์" เยี่ยมญาติผู้ใหญ่ อย่าลืมสวมหน้ากาก
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่าขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต รายที่ 94 อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีบทเรียนเหมือนกับหลายๆ กรณีก่อนหน้านี้ที่เป็นสูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัวที่มาเยี่ยม ดังนั้น ในช่วงเทศกาล"สงกรานต์"ที่จะมีการเดินทางกลับไป "เยี่ยมญาติผู้ใหญ่"ที่บ้านนั้น ขอเตือนว่าเวลาไปพบท่านขอพรท่านแล้วขอให้สวม "หน้ากากอนามัย" ไปด้วย เพราะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรค ก็จะทำให้ท่านมีความปลอดภัย ลูกหลานก็จะได้รับพรที่ดีจากท่าน
ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขไม่ห้ามการมีเทศกาล "สงกรานต์" พบปะพี่ น้อง ขอพรผู้ใหญ่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญและดีงามจึงไม่ห้าม แต่ขอความร่วมมือโดยเฉพาะคนไปจากพื้นที่เสี่ยง ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และได้รับพรที่ดี หากมีอาการผิดปกติอะไรให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แม้ปีนี้เราจะไม่ได้เฉลิมฉลองกันอย่างสุดๆ แต่ขอให้ช่วยกันอีกสักนิด เพื่อที่เทศกาลถัดไปเราจะได้ฉลองกันอย่างมีความสุข
- สาดสีเชียงใหม่ ไม่ผิด แต่ต้องทำแบบ "New Normal"
นพ.โอกาส กล่าวอีกว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่สีเขียวการใช้ชีวิต การจัดกิจกรรม รวมพลต่างๆ สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกอย่าง ต้องทำแบบ "New Normal" คือคนร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยให้มากที่สุด มีการเว้นระยะห่าง มีการวัดไข้ และการสแกนไทยชนะ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีการรวมกันของคนหมู่มากเป็นหลักร้อยคนจะต้องขออนุญาตจากผู้ดูแลรับผิดชอบคือท้องถิ่น
สำหรับกิจกรรมสาดสีนั้นเบื้องต้นไม่ถือว่าผิด เพราะประกาศ ศบค.ห้ามสาดน้ำ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นไปที่จังหวัดพบว่าขออนุญาตจัดกิจกรรมแล้ว แต่อาจจะมีการละหลวม จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปตรวจสอบ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าขนาดยังไม่ถึงช่วงเทศกาล "สงกรานต์" ยังพบกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นต้องไม่หละหลวม เพราะเสี่ยงเกิดปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19ได้
ทั้งนี้กิจกรรม "สงกรานต์" จะแบ่งเป็น 2 ส่วน 1. งานส่วนบุคคล เลี้ยงในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย สามารถดำเนินการได้แต่ขอให้ระมัดระวัง งานในกลุ่มนี้ไม่ค่อยกังวลมากนัก เพราะส่วนใหญ่คนที่มางานจะรู้จักกัน เวลาเกิดปัญหา การติดตามผู้สัมผัสจะไม่ค่อยยุ่งยาก แต่แบบที่ 2 คือการจัดงานเปิด แบบสาธารณะที่ใครก็สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ มีการซื้อบัตร เชิงธุรกิจแบบนี้ตามตัวคนได้ยาก หากไม่มีมาตรการที่รัดกุม ดังนั้นไม่ห้ามแต่ต้องทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทุกคน