'เลิศศักดิ์'ชี้ศก.เข้าภาวะชะงักงัน แนะอัดฉีดเงินฐานราก ปล่อยกู้SMEs ทั่วถึง
"พท." เผย จีดีพี ปี64 อาจต่ำกว่า 1.8% ถ้ายังคุมโควิด ไม่ได้ ไทยกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจชะงักงัน ธนาคารปล่อยกู้ 0% สายไป พท. เสนอมาเป็นปี ชี้ อาจต้องเลือกธุรกิจที่มีโอกาสรอด แนะ ใช้เงินกู้อัดฉีดสู่ฐานราก ผ่าน อปท. ให้มากที่สุด ต้องกระจายอำนาจเป็นรูปธรรม
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี แต่ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 เหลือ 1.8% (ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่3%) ต่ำมากและอาจจะต่ำลงอีกถ้ายังควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดไม่ได้ และปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.9% (ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% ) ซึ่งเห็นชัดว่าเศรษฐกิจไทยยังคงซบเซาและชะลอตัวทั้งใน ปี 64 และ ปี 65 ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว ยังขยายตัวไม่เท่ากับปี 63 ที่ติดลบ -6.1% เลย และก่อนปี 63 เศรษฐกิจไทยก็ยังย่ำแย่อยู่แล้ว โดยปี 62 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง2.4% เท่านั้น ซึ่งต่ำสุดในรอบ 6 ปีก่อนมีการระบาดของไวรัสด้วยซ้ำ ดังนั้น การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าหรือแทบไม่ฟื้นตัวเลย แสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ตามที่สื่อหลักต่างประเทศ นิเคอิ เอเชีย ได้ลงบทความยืนยันไว้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือภาวะเงินเฟ้อของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของโลกที่ฟื้นตัว ทำให้ระดับสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้นสูง ราคาเหล็กได้เพิ่มขึ้นสูงมาก ราคาน้ำมันก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น ระดับราคาสินค้าในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตามเศรษฐกิจของสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขนาดธนาคารกลางสหรัฐอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดกันไว้ และ สหรัฐฯ ได้เริ่มที่จะลดวงเงิน QE ลงแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยกลับไม่ยังฟื้น ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีอัตราการว่างงานสูงเหมือนในปัจจุบัน แต่ต้องมาประสบกับภาวะเงินเฟ้อ จะทำให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของโลก จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (Stagflation) ซึ่งอยากจะให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เร่งทำความเข้าใจและหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ ฟื้นโดยเร็ว
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเริ่มจะเสนอให้ธนาคารปล่อยกู้ 0% ให้กับธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ นับเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง เป็นแนวทางที่คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเสนอมาเป็นปีแล้ว เพราะจะช่วยลดภาระของบริษัท SMEs ได้มาก มิเช่นนั้นหลังวิกฤตการณ์โควิดผ่านไปแล้วบริษัท SMEs เหล่านี้จะไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้เพราะหนี้สินที่พอกพูนจากการที่ดอกเบี้ยทบดอกเบี้ยและทบเงินต้นจะไม่สามารถจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการที่รัฐบาลเพิ่งจะคิดได้จะสายไปหรือไม่ เพราะในต่างประเทศ รัฐบาลเขาช่วยเหลือทันทีที่มีการระบาดและต้องชัตดาวน์แล้ว แต่แนวทางของประเทศไทยล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้วเพิ่งจะมาคิดได้ ทั้งที่คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเรียกร้องเรื่องซอฟท์โลน 0% นี้มาโดยตลอดอย่างไรก็ดี ก็อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือและต้องช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ไม่ใช่ช่วยเฉพาะพรรคพวกของตน อีกทั้งอาจจะต้องเลือกว่าธุรกิจใดมีโอกาสรอดได้บ้างด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาและคิดล่วงหน้าและถ้าเปิดใจฟังคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยแต่แรก เศรษฐกิจก็คงไม่ย่ำแย่ขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม ในการใช้เงินกู้ ตามพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านสภาไปแล้วนั้นให้คำนึงถึงการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยการทำโครงการผ่านหน่วยงานภาครัฐ เสนอให้จัดสรรงบประมาณตรงไปที่หน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แทนการให้ราชการส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการ เพราะท้องถิ่นมีความพร้อมด้านเครื่องมือและบุคลากร ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินของรัฐลงสู่ฐานรากได้เข้าถึงและรวดเร็ว และโดยเฉพาะช่วงนี้ที่รัฐสภากำลังพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อยากจะเสนอแนวทางให้มีการกระจายอำนาจเข้าสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด
ทั้งนี้ประเทศที่ประสบความสำเร็จและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมากเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศญี่ปุ่นจะมีการกระจายอำนาจ กันอย่างมาก ซึ่งทำให้ท้องถิ่นมีการพัฒนาเท่าเทียมกับในเมือง จะเป็นการกระจายการพัฒนาพร้อมทั้งการกระจายรายได้ อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำ ไทยได้ติดอันดับ 1 มาแล้ว ตลอด 7 ปีตั้งแต่การปฏิวัติ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีแต่การรวบอำนาจมารวมกันอยู่กับส่วนกลาง ทำให้การกระจายการพัฒนามีน้อยหรือแทบไม่มีเลย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีแผนงานในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง