การคุกคามทางเพศ ภัยเงียบของสังคมไทยยุค 4.0
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ คำที่บุคคลซึ่งเติบโตมาในศตวรรษที่ 21 ต่างเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะ เป็นรากฐานที่มาของการกำหนดสิทธิความเป็นมนุษย์หรือหลักสิทธิมนุษยชน อันแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาภายใต้ความท่าเทียมกันของสิทธิในทุกบริบท ไม่เว้นกระทั่ง “เพศ”
เช่นนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายต่างมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิอันเป็นเสรีภาพประเภทนี้ไว้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับ “ประเทศไทย” รัฐธรรมนูญ, กฎหมายอาญา ภาคความผิด, ภาคลหุโทษ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายเหล่านี้ต่างเขียนไว้ซึ่งบทคุ้มครองไม่ให้มีการกระทำความผิดทางเพศ แต่ทำไมปัญหาประเภทนี้กลับพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย
ผู้เขียนขออธิบายประเด็นดังกล่าวด้วยการทำความเข้าใจว่าความผิดอันมีลักษณะเป็น “ความผิดเกี่ยวกับเพศ” สามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ “การล่วงละเมิดทางเพศ” และ “การคุกคามทางเพศ” แม้ทั้งสองประเภทนี้จะไม่ถูกกฎหมายนิยามโดยชัดแจ้ง แต่ในทางปฏิบัติผ่านการใช้ การตีความนั้น ประเทศไทยบังคับใช้แตกต่างกันอย่างชัดเจน
1. “การล่วงละเมิดทางเพศ” หมายถึง การกระทำ หรือการประพฤติที่ไม่เหมาะสมทางเพศต่อผู้อื่น อันเกิดผลที่ชัดเจนทางเพศสภาพ ตัวอย่างเช่น การข่มขืนกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(18) ประกอบลักษณะ 9 มาตรา 276 หรือ การชำเราเด็กหรือผู้เยาว์ แม้เด็กหรือผู้เยาว์นั้นจะยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 277 ทั้งสองฐานความผิดข้างต้นมุ่งบังคับใช้ต่อการกระทำทางเพศที่เข้าลักษณะ “ล่วงล้ำอวัยวะสืบพันธ์” ด้วยเจตนาหวังต่อการร่วมประเวณี จึงต้องมีการใช้ “อวัยวะเพศ” ของผู้กระทำ กระทำต่อ “อวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปาก” ของผู้ถูกกระทำ
ตัวอย่างต่อมาคือ การอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 มาตรา 278 และ 279 เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมทางเพศผ่านการถูกเนื้อต้องตัวไม่เฉพาะแต่เพื่อความใคร่หรือการประเวณีเท่านั้น แม้ไม่ทำด้วยความใคร่เพียงสัมผัสเพื่อความพึงพอใจ ความแค้น หรือความโกรธ ก็ถือเป็นอนาจาร
จึงกล่าวได้ว่า “การอนาจาร คือ ความผิดมูลฐานของความผิดฐานข่มขืน” เสมอ
เนื่องด้วยการข่มขืนย่อมมีการอนาจารเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิด รวมไปถึงความผิดอีกประการตาม มาตรา 282-284 “พาไปเพื่อสนองความใคร่” ส่วนนี้กฎหมายมุ่งขยายผลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับฐานความผิดในสองประการแรก ในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิด
2. “การคุกคามทางเพศ” หมายถึง การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางกาย หรือวาจาที่เป็นการรังควาน กลั่นแกล้ง หรือด้วยการขู่เข็ญ ในสถานการณ์ต่างๆ อันทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจ เสียเปรียบ เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมุ่งเจตนาต่อความแตกต่างเรื่องเพศเป็นสำคัญ อาจด้วยคำพูด สายตาสีหน้า ข้อความหรือท่าทาง
ตัวอย่างกฎหมายไทยที่บังคับคุ้มครองเรื่องนี้คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ
กล่าวคือ มุ่งลงโทษการประพฤติบางประเภทที่กระทำโดยไม่เหมาะสมระหว่างเพศ โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “ล่วงละเมิดทางเพศ” หรือไม่นั่นเอง มักพบบ่อย เช่น การเหยียมหยามด้วยการแสดงสัญลักษณ์ ด่าทอ ล้อ กลั่นแกล้งเพศที่สาม
นอกจากนี้กฎหมายไทยยังครอบคลุมไปถึงการกระทำความผิดโดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ที่แก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา 14 (4) ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ กล่าวคือ หากการกระทำความผิดที่กล่าวมานั้นถูกทำให้เผยแพร่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์
อันทำให้ความผิดนั้นส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ศักดิ์ศรีทางเพศของผู้เสียหายในวงกว้าง ผู้กระทำความผิดจะมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้ นอกเหนือจากโทษทางประมวลกฎหมายอาญานั่นเอง
กล่าวถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจจะมองว่ากฎหมายไทยคุ้มครองความเท่าเทียมทางเพศแล้ว แท้จริงนั้นกลับตรงกันข้ามในความเป็นจริง โดยผู้เขียนขอชี้แจงออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. บทกำหนดโทษทางกฎมาย 2. บทบาทและมุมมองสังคม ประเด็นแรก ข่มขืนกระทำชำเรา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับ 80,000 - 400,000 บาท (มาตรา 276 วรรคแรก) ชำเราเด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี จำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับ 100,000 - 400,000 บาท (มาตรา 277 วรรคแรก)
หากแต่เมื่อเป็นโทษทางการคุกคามทางเพศนั้น ระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท (มาตรา 397) เปรียบเทียบบทลงโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ระหว่าง “การล่วงละเมิดทางเพศ” กับ “คุกคามทางเพศ” จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนว่าการกระทำที่ส่งผลต่อความอับอาย หรือศักดิ์ศรีทางเพศ
ผ่านการเหยียดหยามทางวาจา กริยาท่าทาง สายตา กฎหมายจำแนกโทษประเภทนี้ไว้เป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยกำหนดไว้เพียงค่าปรับ หากแต่เมื่อมีการกระทำที่ถึงขนาดจนกลายเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายจึงกำหนดโทษที่รุนแรงไว้
ปัญหาคือการกำหนดโทษบริบทนี้ตอบคำถามเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแล้วจริงหรือไม่ ประเด็นที่สอง การนำคดีเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกฎหมายไม่ได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษไว้ จึงต้องเป็นไปตามระบบกล่าวหาทั่วไปซึ่งผู้เสียหายจะต้องนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจ อันต้องมีการสอบสวนผ่านการสอบปากคำจากเจ้าหน้าที่และมีการสืบพยานโจทก์ต่อหน้าศาลและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการชั้นพิจารณา
ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกอับอายซ้ำแล้วซ้ำเล่า มากไปกว่านั้นสังคมจะตีตราว่าหญิงที่ถูกกระทำนั้นเป็นหญิงไม่ดี อาจมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดผ่านมุมมองที่มีต่ออาชีพของหญิงเหล่านั้น
ยิ่งหากหญิงนั้นมีครอบครัวอาจเกิดการไม่ได้รับการยอมรับจากสามีหรือคนในครอบครัวตามมา จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่เลือกไม่นำคดีเข้าสู่กระบวนการทั้งหมดจึงเป็นเหมือนภัยเงียบที่อยู่คู่สังคมไทยซึ่งประทุออกมาให้เห็นผ่านสื่ออยู่เป็นประจำ
โดยสังคมเลือกที่จะเสพผลของมัน มากกว่าจะเรียนรู้และปรับตัว ปรับมุมมอง เพื่อให้ภัยดังกล่าวหมดไปจากสังคม ยิ่งสังคมไทยยุค 4.0 ที่การสื่อสารบนโซเชี่ยลเข้าถึงคนส่วนใหญ่ การเสพข่าวดังกล่าวก็เปรียบเสมือน “การคุกคามทางเพศ” ต่อผู้เสียหายโดยนัยไม่ต่างกัน