ผู้นำและนวัตกรรมสังคมที่ปฏิรูปประเทศได้

ผู้นำและนวัตกรรมสังคมที่ปฏิรูปประเทศได้

คนที่คิดปฏิรูปประเทศคือผู้ริเริ่ม, ผู้มีศักยภาพเป็นผู้นำต้องคิด, หาความรู้ให้ชัดเจนว่าปัญหาหลักของประเทศอยู่ที่ไหน และจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปจริงๆ ได้อย่างไร

ปัญหาหลักคือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองไทยเป็นทุนนิยมและระบบรัฐสภาแบบผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่หัวเก่า จารีตนิยม ประชาชนถูกระบบวัฒนธรรมและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (ศักดินาด้วย)

ประชาสัมพันธ์ให้คนหวังพึ่งและเลือกเข้าข้างชนชั้นผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ทั้งผู้ปกครอง ชนชั้นนำต่างทำให้เชื่อว่าการพัฒนาแบบทุนนิยมที่เน้นการเจริญเติบโตดีที่สุดแล้ว และวันหนึ่งประชาชนทุกคนจะรวยขึ้น

แต่ประชาชนมีปัญหาจริง 2 ด้าน คือ

1. ด้านมีสิทธิทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม น้อยกว่ากลุ่มคนชั้นสูง ชั้นกลาง

2. การไม่รู้เท่าทันว่าปัญหาของพวกตนเกิดจากตัวระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่พวกตนถูกทำให้เชื่อว่าดีที่สุดแล้ว

ไม่ว่าพรรคใหญ่พรรคจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล พวกเขาก็จะพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทุนนิยมผูกขาด มือใครยาวสาวได้สาวเอาคล้ายกัน ระบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของไทยมีจุดอ่อนมาก

มีแต่พรรคเจ้าที่ดิน นายทุน นักธุรกิจ ที่เป็นพรรคใหญ่ ที่ผูกขาดทั้งอำนาจและความสามารถในการทำให้ประชาชนเลือกพวกเขา ขณะที่พรรคชาวนา พรรคคนงาน พรรคแนวปฏิรูปเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นพรรคเล็กมากจนไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. เลย

คนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และเป็นธรรมขึ้น ต้องหาทางช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดวิเคราะห์เป็น มองปัญหาต่างๆ อย่างจำแนกเป็นเรื่องๆ ไม่ไปฝากความหวัง, เลือกข้าง/ปกป้องชนชั้นสูงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เช่น กรณีนักการเมืองก็ทุจริตฉ้อฉล เป็นเรื่องที่ผิด ทำความเสียหายต่อส่วนรวมทั้งนั้น ไม่ใช่เลือกได้ว่าถ้าเป็นพรรคที่ตนเข้าข้างก็ปิดปากเงียบๆ เลือกโจมตีเฉพาะฝ่ายตรงกันข้าม

ประชาชนจะต้องมองภาพใหญ่ของสาเหตุหลักของปัญหาว่า เกิดจากระบบทุนนิยมแบบผูกขาดที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบประชาชน และต้องหาแนวทางที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งระบบโครงสร้าง

ประชาชนจะต้องหาความรู้และจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรของภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง สร้างแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นข้างบน จึงจะมีหนทางปฏิรูปได้ นักการเมืองที่อ้างว่าจะปฏิรูปได้แต่พูดหาเสียงเท่านั้น

ประชาชนควรรู้เท่าทันพวกนักการเมืองว่าจริงๆ แล้ว พวกนักการเมืองใช้เงินจากงบประมาณ ทรัพยากรและกำไรที่พวกเขาได้ขูดรีดไปจากประชาชนทั้งประเทศหาเสียงกับประชาชนให้เกิดความชอบพอ ผูกพัน เป็นพรรคพวกเขา

ขณะที่นักการเมืองเองได้ประโยชน์มากกว่าประชาชนหลายร้อยเท่า พวกเขาอยู่กันอย่างมั่งคั่ง มีอำนาจรวมทั้งอภิสิทธิ์อย่างมหาศาล

ประชาชนควรรู้/ตระหนักว่า ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศและผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ฯลฯ ทุกครั้งที่เราไปซื้อสินค้าต่างๆ)

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ต่างกินเงินเดือนจากงบประมาณรัฐ (เงินของประชาชน)

 ดังนั้น นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่ควรรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณประชาชน มีภาระหน้าที่จะต้องทำงานให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่คดโกง ถ้าหากว่าพวกเขาคนไหนทำหน้าที่ไม่ได้ดีพอ ประชาชนมีสิทธิถอดถอนพวกเขาได้

การผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมระดับทั้งประเทศมี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ

1. ปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เรื่องระบบภาษี การคลัง และปฏิรูปที่ดิน กระจายทรัพย์สินรายได้ให้ประชาชนทั้งประเทศมีทรัพย์สินและรายได้แบบพึ่งพาตนเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ให้ประชาชนทั้งประเทศมีโอกาสได้รับการศึกษา บริการทางสาธารณสุขและทางสังคมอื่นๆ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม จัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค วิสาหกิจชุมชน สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพต่างๆ กลุ่มชมรมต่างๆ ของภาคประชาชน ฯลฯ

2. ปฏิรูปทางการเมือง เปิดโปงและกำจัดการทุจริตฉ้อฉล ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ประชาชนถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริตฉ้อฉลหรือทำเสียชื่อด้านต่างๆ ได้

ปฏิรูปรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายอื่น ทำให้ระบบเลือกตั้งผู้แทน และผู้บริหารระดับต่างๆ โปร่งใส และประชาชนรู้เท่าทันนักการเมืองมากขึ้น ทำให้มีการซื้อเสียง ขายเสียง การใช้ระบบอุปถัมภ์ นโยบายประชานิยมน้อยลดลง 

สร้างประชาธิปไตยทางตรง เช่น กระจายอำนาจ/ทรัพยากรให้สู่ท้องถิ่น ให้บริหารจัดการตนเองเพิ่มขึ้น (ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน) มีการเลือกผู้ว่าฯ สภาคณะกรรมการชุดต่างๆ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล มากขึ้น มีการจัดทำการลงประชามติและประชาพิจารณ์ในเรื่องนโยบาย/กฎหมายที่สำคัญอยู่เสมอ

3. ทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพแบบคิดวิเคราะห์เรื่องทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเป็นตัวของตัวเองเป็น ไม่ใช่แค่มีความรู้ทักษะเฉพาะด้านเพื่อไปทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมเท่านั้น

ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและโอกาสในเรื่องต่างๆ นอกจากเรื่องสิทธิในการเลือกผู้แทน เช่น

1. สิทธิเสรีภาพและโอกาส ในการจัดตั้งกลุ่ม องค์กรที่จะเข้าไปตรวจสอบ ผลักดันรัฐบาล

2. สิทธิเสรีภาพและโอกาสในการได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและการมีงานที่เหมาะสมทำ

3. สิทธิเสรีภาพและโอกาสในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรมแล้ว

4. สิทธิและโอกสทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ เช่น สิทธิในเรื่องที่ทำกินและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชน สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ

เรื่องโอกาสที่จะได้ใช้สิทธิเสรีภาพจริงเป็นเรื่องสำคัญ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม (หรือตลาดเสรี) อ้างว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะมีทรัพย์สิน การลงทุนแสวงหากำไรเพื่อความร่ำรวยของเอกชนได้ทุกคนนั้น

แต่ในสภาพความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดคือมีเฉพาะคนรวยและคนชั้นกลางเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ใช้เสรีภาพดังกล่าว คนจนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาส ไม่มีช่องทางที่จะไปแข่งขันสู้คนรวยกว่าได้เลย

การปฏิรูปหลักคือ การสร้างเศรษฐกิจระบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และสังคมนิยมแบบประชาธิปไตย เช่น ระบบสหกรณ์วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ

เพื่อประสิทธิภาพของส่วนรวม ความเป็นธรรม และเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ (ลดปัญหาทั้งโลกร้อน แปรปรวน) รวมทั้งเพื่อสร้างสังคม วัฒนธรรมที่มีผู้คนไว้วางใจ ร่วมมือกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสามัคคีกัน ที่จะทำให้เศรษฐกิจสังคมของโดยรวมเข้มแข็งและเจริญงอกงามอย่างที่คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น.