บรรทัดฐานจากคำพิพากษาฎีกาคดีที่เกี่ยวกับข้าว

บรรทัดฐานจากคำพิพากษาฎีกาคดีที่เกี่ยวกับข้าว

ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับข้าวที่มีการฟ้องร้องกันเป็น คดีอาญาและคดีแพ่งที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว ที่อาจเป็นบรรทัดฐานที่น่าศึกษาคือ

   คดีฟ้องให้เพิกถอนมติคณะกรรมการนโยบายข้าว
                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่20230/2555
ผู้ประกอบการโรงสีเข้าร่วมโครงการยกระดับราคาข้าวของรัฐบาล โดยรับฝากเก็บข้าวนึ่งไว้ในคลังสินค้าของตน มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาคุณภาพของข้าวนึ่งดังกล่าวให้ดีตลอดเวลาที่รับฝากเก็บ

ต่อมารัฐประมูลขายข้าวนึ่งดังกล่าวเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ แต่มีปัญหาผู้ประกอบการที่รับฝากข้าวนึ่งดังกล่าวไม่สามารถส่งมอบข้าวนึ่งที่มีคุณภาพตามมาตรฐานให้ผู้ประมูลซื้อส่งออกไปต่างประเทศได้ ยืดเยื้ออยู่หลายเดือน

คณะกรรมการบริหารนโยบายข้าวจึงมีมติซึ่งมีเนื้อหา “ให้กรมการค้าต่างประเทศ ขึ้นบัญชีดำโดยไม่ออกใบอนุญาตส่งออกข้าวให้ และไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นใดที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกและโรงสีด้วย”    

ผู้ประกอบการรายนั้น จึงฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายข้าว

 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในขณะนั้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงไม่ต้องพิจารณาว่ามติดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ แต่หากกรณีเป็นคำสั่งทั่วไปที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์ศาลก็ชอบที่จะรับไว้พิจารณาวินิจได้

โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มติของคณะกรรมการบริหารนโยบายข้าวดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นหรือข้อเสนอแนะภายในของคณะกรรมการ ที่ต้องนำมติดังกล่าวเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือกรมการค้าต่างประเทศเพื่อพิจารณา เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายข้าวไม่มีอำนาจในการที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตได้

เนื่องจากเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมาย มติของคณะกรรมการนโยบายข้าวดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ์ ไม่มีอำนาจฟ้อง

 คดีที่ฟ้องว่าข้าวถุงที่ผู้บริโภคซื้อไปเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่4829/2558

                  โจทก์ซื้อข้าวถุงของผู้ผลิตข้าวถุงรายหนึ่ง พบว่า มีเชื้อราปนเปื้อน จึงฟ้องผู้ผลิตข้าวถุงดังกล่าวให้รับผิดชอบสินค้าไม่ปลอดภัย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นภาระการพิสูจน์ของจำเลยถึงข้อเท็จจริงขั้นตอนเกี่ยวกับการผลิตหรือการดำเนินการใดเกี่ยวกับสินค้านั้น

เมื่อจำเลยมีพยานบุคคลและพยานเอกสารพิสูจน์ให้เห็นถึงขั้นตอนการผลิตข้าวถุงและการขนส่งให้ลูกค้า มีการตรวจสอบคุณภาพตลอดเวลาตามระบบหลักการการผลิตที่ดี เป็นหลักประกันคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหาร ได้รับการประเมินตรวจสอบและได้ใบรับรองจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ว่าสินค้าของจำเลยมีความสะอาดถูกสุขอานามัย

ประกอบกับข้าวสารบรรจุถุงที่ผลิตในวันเดียวกับข้าวสารถุงที่มีปัญหา ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อราปนเปื้อนแสดงว่าเชื้อราที่ปนเปื้อนไม่ได้เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตหรือการขนส่งของจำเลย

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีภาระการพิสูจน์ว่าข้าวสารถุงของจำเลยในคดีนี้เสียหายเพราะอะไร ใครเป็นผู้ทำให้เสียหาย เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อยู่ในความรู้เห็นเฉพาะจำเลย แต่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์เท่านั้น เชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมที่เกิดในข้าวสารถุงดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุอื่นฯที่จำเลยไม่อาจทราบได้

หากกำหนดให้เป็นภาระการพิสูจน์ของจำเลยว่าข้าวสารถุงเสียหายเพราอะไร ใครเป็นผู้ทำให้เสียหายย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยและอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งทางการค้าได้ รับฟังได้ว่าข้าวสารถุงของจำเลยมิได้เป็นสินค้าไม่ปลอดภัย จึงไม่ต้องรับผิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551

คดีฟ้องผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่รับจ้างตรวจสอบข้าวตามโครงการรับจำนำเข้าเก็บในคลังสินค้า

คดีนี้ สืบเนื่องมาจากบริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์)ที่รับจ้างตรวจคุณภาพ ข้าวหอมมะลิตามโครงการรับจำนำข้าว ว่าถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ หากถูกต้องก็นำเข้าเก็บในโกดังกลางได้

ต่อมามีการตรวจสอบว่าข้าวที่บริษัทเซอร์เวย์และนาย ช ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่เป็นลูกจ้างตรวจสอบว่า เป็นข้าวหอมมะลิแล้วนำเข้าเก็บในโกดังกลาง ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ

พนักงานอัยการจึงฟ้องบริษัทเซอร์เวย์เป็นจำเลยที่1 ฟ้องกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเป็นจำเลยที่2 ฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269 และพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้า พ.ศ.2503 (ไม่ได้ฟ้องนาย ช ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า)

ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่จำเลยโต้แย้ง ไว้ในเบื้องต้นก่อนคือ  

(1)  การเก็บตัวอย่างของคณะทำงาน (ชุดที่54) ถูกต้องตามคู่มือปฏิบัติหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงจากบันทึกของคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวชุดที่ 54 ที่มีการบันทึกรายละเอียดการปฏิบัติงาน ที่หัวหน้าคลังสินค้าและตัวแทนเจ้าของสินค้าลงนามรับรองในทันที

ศาลจึงเชื่อว่าว่าคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวชุดที่ 54 สุ่มเก็บตัวอย่าวข้าวเป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติ

(2)  การตรวจสอบตัวอย่างข้าวของสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยน่าเชื่อถือหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การส่งตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบมีการแปลงรหัสทำให้ไม่ทราบว่าเป็นตัวอย่างข้าวของรายใด และสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าวสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่ได้รับความน่าเชื่อถือ

ในกรณีมีข้อโต้แย้งคุณภาพในขณะส่งมอบเข้าเก็บในโกดัง มีการตกลงกันให้คณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้ชี้ขาด  การตรวจสอบตัวอย่างข้าวของสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าวจึงไม่น่าจะมีข้อผิดพลาด 

                       ประเด็นแห่งคดีที่ศาลฎีกาวินิจฉัย
 1.ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า เป็นนิติบุคคลที่ต้องได้รับอนุญาตฯ และต้องว่าจ้างผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเป็นผู้กระทำการแทน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าดังกล่าว จึงเป็นผู้ประกบวิชาชีพอื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269

หากผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ากระทำให้การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริง ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าต้องรับผิดต่อการกระทำของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเสมือนกระทำด้วยตนเอง

2  การที่นาย ช ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ากระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริงและทำคำรับรองอันเป็นเท็จ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำคำรับรองการตรวจข้าวสารอันเป็นเท็จและทำให้ผิดไปจากความจริง จึงมีความผิดตามมาตรา 269 วรรคหนึ่ง และมีการใช้คำรับรองอันเป็นเท็จ ลงโทษจำเลยที่1ฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตามฎีกาโจทก์ ปรับ 4,000 บาท        

ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการทำคำรับรองมาตรฐานสินค้าอันเป็นเท็จหรือผิดไปจากความเป็นจริง และ มิได้มีหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่ต้องรับผิด1 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

 3 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 มาตรา57 เพราะเป็นการตรวจสอบเพื่อนำข้าวเข้าเก็บในโกดัง ไม่ใช่การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเพื่อขอใบรับรองมาตรฐานสินค้านำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรก่อนส่งออกตามมาตรา17.