กทม. แจงรับเด็กต่างด้าวเข้าเรียน รร. ไม่กระทบเด็กไทย ปี 2567 มีกว่า 12,551 คน
สำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. ชี้แจงกรณีรับเด็กต่างด้าวเข้าเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า ไม่กระทบต่อเด็กนักเรียนไทย ไม่เสียเสียโอกาสทางการศึกษา หลังปีการศึกษา 2567 มีนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 12,551 คน
สำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. ชี้แจงกรณีรับเด็กต่างด้าวเข้าเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า ไม่กระทบต่อเด็กนักเรียนไทย ไม่เสียเสียโอกาสทางการศึกษา หลังปีการศึกษา 2567 มีนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 12,551 คน
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตโรงเรียนสังกัด กทม. มีนักเรียนต่างด้าวเข้าเรียนจำนวนมากว่า การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยในโรงเรียนสังกัด กทม. ดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 48
และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 31 ต.ค. 62 เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย
โดยเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและเด็กที่มีสัญชาติไทยได้รับโอกาสในการศึกษาและเติบโตอย่างมีคุณภาพ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้อย่างเสมอภาค ตามสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางการศึกษา
ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 258,316 คน ซึ่งมีจำนวนนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 12,551 คน คิดเป็นร้อยละ 4.86
อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าศึกษา ไม่ได้ทำให้เด็กที่มีสัญชาติไทยเสียโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากได้มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อรองรับนักเรียนทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมและจัดการศึกษาที่ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย หรือเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและส่งเสริมให้เด็กทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตน ได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ กทม. มีแนวทางการรับนักเรียน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตให้กับเด็กทุกคนในสังคม