ความมั่นคงทางอาหารและทุนมนุษย์ไทยในอนาคต | กษิดิศ สุรดิลก
อาหาร หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เหล่าบรรดาผู้คนต่างประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มาจับจ่ายใช้สอยในการซื้ออาหาร
อาหารจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ แม้ว่าโลกจะก้าวเข้าสู่ยุคใดก็ตาม แต่ละยุคล้วนมีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือแนวทางที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมอาหารให้มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการที่มากขึ้นในแต่ละปี
สิ่งเหล่านี้ได้ผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียเป็นผู้นำทางด้านอาหาร ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีขนาดพื้นดินที่ใหญ่ที่สุด สภาพภูมิอากาศมีความหลากหลาย ภูมิภาคเอเชียจึงได้กลายมาเป็นทวีปที่สามารถผลิตพืชผล เนื้อสัตว์ และปลามากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชียกลับเริ่มมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ราคาอาหารที่สูงขึ้น และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ประชากรในภูมิภาคจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 พันล้านคน ส่งผลให้ปริมาณด้านการผลิตอาหารเพื่อรองรับความต้องการทางด้านอาหารเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 70 รวมถึงประเภทของอาหารที่มีความต้องการสูง คือ เนื้อสัตว์ นม ผักและผลไม้
ส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชประเภทข้าวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
คาดว่าในปี 2593 ภูมิภาคเอเชียจะสูญเสียพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวประมาณร้อยละ 5-25 จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด จึงกลายมาเป็นข้อจำกัดที่อาจทำให้ระบบอาหารมีความเปราะบาง รวมถึงราคาของอาหารก็จะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น
สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ในปีนี้ สินค้าประเภทอาหารมีราคาเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ราคาอาหารโดยเฉลี่ยยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนในการผลิตและขนส่งเพิ่มสูงขึ้น
ประกอบกับสภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ได้ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจไทยให้มีความผันผวนมากยิ่งขึ้น ทำให้คนบางกลุ่มประสบภาวะขาดแคลนอาหาร ที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพได้
กลุ่มเด็กในวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการปริมาณสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาศักยภาพของตนเอง แต่ด้วยสภาวะความเปราะบางหรือความยากจนในบางครอบครัว ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและเหมาะสมต่อร่างกาย
ส่งผลให้เด็กไทยบางคนประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ที่มีรูปร่างเตี้ยแคระแกร็น (Stunting) ผอมแห้ง (Wasting) หรือมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน (Obesity) ซึ่งอาจนำไปสู่การลดทอนการพัฒนาศักยภาพในระยะยาว
ข้อมูลจากการสำรวจภายใต้โครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS 6) 17 จังหวัด ในปี 2562 พบว่า ภาวะโภชนาการในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีนั้น พบว่าเด็กไทยยังคงประสบภาวะทุพโภชนาการ สำหรับภาวะเตี้ยแคระแกร็นมี 12 จังหวัดมีอัตราเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ (ร้อยละ 13.3)
จังหวัดที่มีจำนวนเด็กที่ประสบภาวะเตี้ยแคระแกร็นคือ แม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 26.5) ในส่วนของภาวะผอมแห้ง พบว่า เด็กที่ประสบภาวะผอมแห้งปานกลางและรุนแรงอยู่ที่ประมาณ 8 คน จาก 100 คน
แต่ในจังหวัดนราธิวาสและกาญจนบุรีมีอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 2 เท่า หรือประมาณ 16 คน จาก 100 คน ส่วนภาวะอ้วน จำนวนเด็ก 1 ใน 10 คนจะประสบปัญหาภาวะอ้วน คิดเป็นค่าเฉลี่ยระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 9.2
จากตัวเลขดังกล่าว เริ่มเป็นสัญญาณอนาคต (future signal) ที่บ่งชี้ถึงภาวะทุพโภชนาการที่อาจจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพของประชากรในประเทศในอนาคตหากแนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป
ที่ผ่านมา ในกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สะท้อนถึงประเด็นปัญหานี้ออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน จากกรณีที่เด็กนักเรียนไม่ได้ไปสถานศึกษา ทำให้เด็กบางคนไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน
เนื่องจากบางครอบครัวมีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการซื้ออาหารให้เด็กในทุกมื้อได้ จึงต้องอาศัยอาหารกลางวันจากโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้รับประทานอาหารครบ 3 มื้อ และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หากราคาอาหารยังคงเพิ่มสูงขึ้นและไม่สอดคล้องกับรายได้ของประชากร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเด็กและสังคมโดยรวมในระยะยาวได้
ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรอาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก เนื่องจากเด็กเหล่านี้เปรียบเป็นทุนมนุษย์ผู้ซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นบุคลากรที่ขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต เด็กเหล่านี้จึงควรต้องได้รับการดูแลที่ดี
โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาอาหารและค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสูงจากเหตุปัจจัยหลายประการ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยในอนาคตเผชิญกับการขาดแคลนทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืนต่อไป.