เอื้อกลุ่มทุน! ฟ้องศาล ปค.สูงสุด เพิกถอนมติ ครม.ต่างชาติถือครองที่ดิน
“ศรีสุวรรณ” ลุยยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนมติ ครม.ให้ต่างชาติถือครองที่ดิน แลกเงินลงทุน ซัดใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อกลุ่มทุน ลั่นเป็นมติอัปยศ สะท้อนรัฐบาลไร้ความสามารถหารายได้เข้าแผ่นดิน ชี้ควรทำประชามติก่อน
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 ที่ศาลปกครองสูงสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต่อศาลปกครองสูงสุด สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยพ.ศ… ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมุ่งแก้ไขกฎหมายที่ดินให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ได้สิทธิ์ถือครองที่ดินในผืนแผ่นดินไทยได้ในระยะยาว โดยมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการนำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปใช้ใดๆ นอกจากนี้ยังได้ขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง โดยให้ชะลอหรือระงับการดำเนินการใดๆ ตามกฎหรือมติดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาด้วย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าวถือเป็นมติอัปยศที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสิ้นไร้ความสามารถที่จะแสวงหารายได้เข้าแผ่นดิน ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้สอบถามเจ้าของประเทศที่แท้จริงเลยว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ไม่คำนึงเลยว่าการให้ชาวต่างชาติมายึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอย่างถาวรนั้น จะกระทบต่อคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมากมายในระยะยาว การที่รัฐบาลใช้ข้ออ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มทุนที่เป็นแลนด์ลอร์ดอยู่ในขณะนี้ ที่ถือครองที่ดินไว้มากกว่า 80% ในขณะที่คนยากคนจน ต้องถูกไล่รื้อบ้านเรือนให้ออกไปจากพื้นที่ดินของรัฐ เช่น ชาวริมคลอง แล้วบังคับให้ประชาชนเป็นหนี้ผ่านโครงการบ้านมั่นคง เป็นต้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ปัญหาดังกล่าว ครม.ยังขาดเงื่อนไขของการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และไกล โดยเฉพาะปัญหาทางสังคมที่จะตามมา รวมทั้งเงื่อนไขที่กำหนดยังไม่ตอบโจทย์ข้อวิตกกังวลของประชาชนได้ เปรียบดังทฤษฎีกบต้ม กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว
“มติ ครม.ดังกล่าวอาจเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 มาตรา 77 ประกอบ มาตรา 25 มาตรา 26 ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลควรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ดำเนินการให้มีการทำประซามติเพื่อขอฉันทามติจากประชาชนเจ้าของประเทศในเรื่องดังกล่าวเสียก่อน หากยังเห็นว่าอำอาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริง” นายศรีสุวรรณ กล่าว