“ธนาธร” ลงพื้นที่เทศบาลก้าวหน้า ชมการจัดเก็บขยะแบบญี่ปุ่น เดือนเดียวลด 50%
“ธนาธร” ควง “พรรณิการ์” ลุยเยี่ยมชมการจัดเก็บขยะเทศบาลหนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ภายใต้การหนุน “ก้าวหน้า” บังคับใช้มาตรการแยกประเภท-วันเก็บอย่างเป็นระบบ ตามรอยญี่ปุ่น พบเดือนเดียวลดขยะลง 50% ตั้งเป้าท้องถิ่นจัดการขยะดีสุดในไทย
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมชมการดำเนินนโยบายคัดแยกขยะ และการจัดเก็บขยะแบบแยกประเภทแยกวัน โดยมีต้นแบบจากญี่ปุ่น ของเทศบาลตำบลหนองพอก อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศบาลที่คณะก้าวหน้าให้การสนับสนุนด้านนโยบายอยู่ โดยมีนางนิระมล ชื่นตา นายกเทศมนตรีตำบลหนองพอก และนางจุฑารัตน์ ดวงจำ รองนายกเทศมนตรีตำบลหนองพอก ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักของโครงการ เป็นผู้พาเยี่ยมชมและอธิบายในรายละเอียดของการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ
ตั้งแต่เวลา 04.00 น. นายธนาธรและคณะ ได้ออกเดินไปตามชุมชนพร้อมกับรถขยะและเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะของเทศบาล เพื่อสำรวจผลการคัดแยกขยะโดยประชาชนในระดับครัวเรือน โดยดูขยะรายบ้าน ก่อนเยี่ยมชมพื้นที่ตลาด ร้านค้า และสถานประกอบการต่างๆ และการจัดการขยะปลายทางที่บ่อขยะของเทศบาล โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการคัดแยกขยะ สามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้องถึง 70% ของครัวเรือน แม้จะยังไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แต่ก็มีผลลัพธ์ที่เป็นที่น่าพอใจ ภายในเดือนเดียวสามารถลดปริมาณขยะในตำบลจากประมาณ 3.5 ตันต่อวันให้เหลือเพียง 1.5 ตันต่อวันเท่านั้น หรือลดลงได้ถึง 53%
โดยโครงการดังกล่าว ได้มีการเข้ามาศึกษา เก็บข้อมูล ทำประชาคม และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนมาตั้งแต่กลางปี 2565 และได้เริ่มดำเนินการในเฟสที่หนึ่งมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่ครัวเรือนก่อน โดยแยกขยะและการจัดเก็บออกเป็น (1) ขยะเศษอาหาร ที่จะมีการเก็บทุกวันจันทร์-ศุกร์ (2) ขยะเปื้อน เช่น ถุงแกง ภาชนะ ที่มีอาหารปนเปื้อนเก็บทุกวันจันทร์และวันศุกร์ (3) ขยะขายได้ หรือขยะรีไซเคิล เก็บทุกวันอังคาร (4) ขยะอันตราย ทิ้งที่ตู้ขยะอันตรายประจำหมู่บ้าน และ (5) ขยะชิ้นใหญ่ และกิ่งไม้ นัดเทศบาลเข้าเก็บล่วงหน้า
ในระยะแรก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ การใช้มาตรการการจัดเก็บขยะแบบแยกประเภทได้เป็นไปอย่างประนีประนอม เน้นการทำความเข้าใจให้ประชาขนทำการแยกขยะได้อย่างถูกต้องก่อน ก่อนที่จะมีการเริ่มยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการไม่เก็บขยะให้หากไม่แยกขยะให้ถูกต้อง ซึ่งหากพบบ้านที่ไม่แยกขยะ นอกจากจะไม่มีการจัดเก็บขยะ ในวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่เทศบาลจะเข้ามาอธิบายเป็นรายบ้าน เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือให้ประชาชนได้ช่วยกันปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
นายกเทศมนตรีตำบลหนองพอก กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าว โดยระบุว่าจากการที่บ่อขยะในตำบลหนองพอกที่มีอยู่ กำลังจะเต็ม แม้จะมีการเปิดบ่อใหม่ขึ้นมาแล้วแต่หากยังคงจัดเก็บขยะในรูปแบบเดิม ก็คาดได้เลยว่าจะเต็มจนล้นอีกภายในไม่เกิน 1-2 ปีแน่ จนเมื่อได้มาพบกับคณะก้าวหน้า ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันถึงวิธีการจัดการขยะที่เหมาะสมเพื่อลดปริมาณขยะ ซึ่งทางคณะก้าวหน้าก็ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาให้คำปรึกษา ทำงานร่วมกันจนได้นโยบายเช่นนี้ออกมา และจากที่ได้ดำเนินการมาเพียงเดือนเศษ ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเพียงสามารถแยกขยะเศษอาหารไม่ให้ปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่น ก็สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปทิ้งที่บ่อลงได้ถึง 50% และยังทำให้ขยะที่เหลือทั้งหมดน้ำหนักเบาลง จัดเก็บง่าย ไม่เน่าเหม็น
นายธนาธร กล่าวว่า ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน ปัจจุบันมีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่มีการแยกประเภทของขยะและจัดเก็บขยะอย่างเป็นระบบ และเชื่อได้ว่าในอนาคต หนองพอกจะเป็นแห่งที่สามที่มีการคัดแยกขยะได้อย่างดีเยี่ยม จนคาดหวังได้ว่าที่นี่จะเป็นเทศบาลที่จัดการขยะได้ดีจนเป็นแบบอย่างให้ที่อื่นได้มาศึกษาดูงานและนำไปใช้ต่อไดัในอนาคต
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า การคัดแยกขยะมีความสำคัญมาก เพราะด้วยความจำกัดด้านงบประมาณของท้องถิ่น ทำให้การจัดการขยะที่ปลายทางส่วนใหญ่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อจำกัด ต้องใช้วิธีการเทรวมลงในบ่อขยะ ถ้าไม่ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บ เมื่อบ่อขยะเดิมเต็มก็ต้องเปิดบ่อใหม่ ต้องซื้อที่ดินเพิ่ม เมื่อไหร่ถึงจุดนั้นก็ต้องเก็บค่าขยะเพิ่มเพื่อให้พอต้นทุนในการเปิดบ่อขยะใหม่ หรือไม่ก็ต้องขนไปทิ้งบ่อเอกชนที่เก็บค่าบริการถึงตันละ 300-700 บาท คิดเป็นงบประมาณพัฒนาที่ต้องเสียไปส่วนหนึ่งเปล่าๆ เพื่อมาจัดการขยะ แทนที่จะได้เอาไปพัฒนาอย่างอื่น โดยการแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่นๆ จะช่วยลดปริมาณและความสกปรกของขยะที่จะถูกนำมาทิ้งในบ่อ ทำให้จัดการได้ง่ายขึ้น บ่อเต็มช้าลง และในอนาคตจะทำให้การจัดการขยะด้วยการติดตั้งเตาเผาทำได้ง่ายขึ้น เพราะขยะแห้งแล้ว การสันดาปสมบูรณ์จบได้ในตัว ไม่ก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นควันแบบที่เป็นปัญหาในพื้นที่อื่นๆ อีก ซึ่งนั่นคือปลายทางของการจัดการที่ควรเป็นในอนาคต แทนที่การเทรวมลงบ่อแบบนี้
"จากการได้กลับมาหนองพอกครั้งนี้ ผมพบว่าเมืองสะอาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขยะรายทางน้อยลงจนเป็นที่สังเกตได้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภายในสองเดือนของการประชาสัมพันธ์ ประชาชนกว่า 7 ใน 10 บ้านสามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้อง และเชื่อได้ว่าในอีกไม่นาน ที่นี่จะเป็นหนึ่งในที่ที่มีการบริหารจัดการขยะดีที่สุดในประเทศนี้ได้" นายธนาธร กล่าว