หอบคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มล้างปกครอง ยื่น กกต.ชงยุบ 'ก้าวไกล'
'ธีรยุทธ' หอบคำวินิจฉัยศาล รธน.คดี 'ก้าวไกล' ล้มล้างการปกครอง ยื่น กกต.ชง 'ยุบพรรค' ยันไม่ต้องเรียกแจงแล้ว เหตุเนื้อหาในคำวินิจฉัยครบถ้วน แถมจับตาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เอื้อพวกโดน ม.112 ด้วยหรือไม่
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล โดยศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้ายื่นสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ฉบับเต็มที่รับรองโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต่อ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง
นายธีรยุทธ เปิดเผยว่า การยื่นสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มให้กับ กกต. เพื่อต้องการให้ กกต.พิจารณายุบพรรคก้าวไกล ให้เป็นไปตามกรอบของระเบียบ กกต. ซึ่งเท่าที่ตนได้ทำการศึกษา มีการวางกรอบระยะเวลา การทำงานในแต่ละขั้นตอนเอาไว้อย่างชัดเจน รวมแล้วไม่น่าจะเกิน 90 วัน นับตั้งแต่ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน ก็สามารถมีคำวินิจฉัยยื่นต่อศาลได้ และ กกต.ไม่จำเป็นที่จะต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงอีก เพราะทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ตลอดจนฝ่ายความมั่นคง ได้ชี้แจงข้อมูลให้กับศาลรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนแล้ว ในคำวินิจฉัยศาลยกเหตุการณ์ที่สมาชิกพรรคก้าวไกลปรากฏตัวทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเยาวชน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น
นายธีรยุทธ กล่าวว่า แต่ในกระบวนการพิจารณา ของศาลได้รับข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง และศาลได้อนุญาตให้ตนได้เข้าไปอ่าน แต่ไม่สามารถทำการคัดถ่ายสำเนาออกมาได้ เพราะเป็นความลับชั้นความมั่นคงของประเทศ หากหลุดออกมาอาจจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองไม่สุจริต ข้อมูลดังกล่าวพบว่ามีเหตุการณ์ความเชื่อมโยงที่มากกว่าที่ศาลอ่านและเผยแพร่ผ่านสาธารณะก็ตาม เชื่อว่า กกต.ในฐานะเป็นหน่วยงานตรวจสอบ สามารถไปขอข้อมูลหลักฐานเหล่านี้จากทางศาลได้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบอีก
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงที่จะมีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าจะให้ผู้ที่เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า มาตรา 112 ไม่ใช่คดีความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นคดีที่ศาลได้วางบรรทัดฐานเอาไว้แล้วว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ดังนั้นหากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ คนที่กระทำความผิดในคดีมาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ตนก็จะดำเนินการทุกช่องทางที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ซึ่งขณะนี้ตนได้ติดตามการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการ เพื่อที่จะดูว่าใครมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร โดยเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจเทียบ
ส่วนกรณีแกนนำพรรคก้าวไกลแสดงความไม่กังวลว่า หากถูกยุบพรรคจากกรณีดังกล่าว เพราะมีความพร้อมที่จะไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่การดำเนินกิจการของพรรคก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงแก้ไข มาตรา 112 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้าม แต่ต้องเป็นไปโดยชอบและตามที่กฎหมายกำหนด อย่าใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต ตนจะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง