'สภาฯ' เสียงแตก ปมนิรโทษกรรม ม.112 'ภท.' ลั่นไม่เป็นมิตร-ไม่ร่วมพิจารณา
สส. เห็นต่าง2ฝั่ง ปม "นิรโทษกรรม ม.112" ด้าน "ปชน." บอกต้องมีวุฒิภาวะ อย่าขวางนิรโทษกรรม มองปิดประตูใส่ลูกหลาน ด้าน "ภท." ลุกประกาศไม่เป็นมิตร-ไม่ร่วมพิจารณาม.112
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ วาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ. ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว พบการอภิปรายสนับสนุนรายงานของกมธ.พร้อมกับแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นการนิรโทษกรรม คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยในการอภิปรายของ สส. พรรคฝ่ายค้าน ที่มีพรรคประชาชนเป็นแกนนำ ได้สนับสนุนให้การนิรโทษกรรม รวมถึง คดีมาตรา 112 ด้วย อาทิ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่า ในประเด็นของมาตรา 112 ที่กมธ.วางแนวทางให้เป็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง เชื่อว่าจะเป็นตีกรอบการนิรโทษกรรมที่คับแคบเกินไป ทั้งที่ควรเปิดกว้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลคือกีดกันคดีดังกล่าวออกจากการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดีหากต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีต้องมัดรวมการนิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 ด้วย
ทางด้านนายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง สส.อยุธยา พรรคประชาชน กล่าวว่า รายงานของกมธ. ที่แสดงความเห็นต่อคดีมาตรา 112 แบบอิหลักอิ ไม่ชัดเจน จะทำให้ผู้ที่ต้องคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกกลั่นแกล้ง หรือแจ้งความเกินกว่าเหตุจะเคว้งทันที ซึ่งกรณีไม่นิรโทษกรรม คดี มาตรา112 จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดตามจำเป็น เท่ากับปิดประตูไม่ให้ลูกหลานเข้าบ้าน ดังนั้นควรเปิดใจและคุยแบบมีวุฒิภาวะ
ขณะที่การอภิปราย ของสส.ฝั่งรัฐบาล มีความชัดเจนว่า การนิรโทษกรรม ไม่ควรรวมคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หรือ มาตรา 112
โดยนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สำหรับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 รายงานดังกล่าวมีข้อสรุป แต่ไม่สรุป และระบุแนวทางเป็น 3 แนวทาง คือ ไม่นิรโทษกรรม ให้นิรโทษกรรม และ นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ทั้งนี้ความเห็นส่วนตัวมองในประเด็นดังกล่าวว่าสังคมมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ยังมีเวลาที่จะหาฉันทามติ ตนไม่เห็นด้วยกับการรวมมาตรา 110 และ มาตรา112
ทางด้าน นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีทางยอมให้มีการนิรโทษกรรม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งนี้ไม่มีใครได้รับผลกระทบจากสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลปลูกฝังให้คนเห็นต่าง เห็นความไม่สำคัญต่อสถาบัน ซึ่งตนไม่เห็นด้วย
"หากรายงานฉบับนี้ ผ่านไปถึง ครม.และต้องร่างกฎหมาย หากอ้างว่าเป็นมติของสภา ที่เห็นชอบรายงานศึกษา จะให้นิรโทษกรรม การกระทำล่วงละเมิดสถาบัน ทั้ง มาตรา 110 หรือ มาตรา 112 ตนยืนยันต่อประชาชนว่า คนของภูมิใจไทย ไม่เป็นมิตรและไม่ยินยอมกับการกระทำ ยืนยันเจตนารมณ์ว่า จะจงรักภักดีและปกป้องสถาบันให้ถึงที่สุด" นายสนอง อภิปราย
ขณะที่ นางนันทนา สงฆ์ประชา สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ชัดเจน พรรคภูมิใจไทยพร้อมร่วมพิจารณา แต่จะไม่ร่วมพิจารณา มาตรา หรือรายงานฉบับนี้ทุกกรณีหากมีมาตรา 112
"เรามีจุดยืนไม่แตะต้องและปกป้องมาตรา 112 ด้วยชีวิต พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยจะแตะต้องมาตรา 112 และจะไม่พิจารณาเด็ดขาดกับคนที่ทำผิดมาตรา 112 เพราะไม่ใช่ความผิดทางการเมือง"นางนันทนา อภิปราย