แกะปมคลิปใหม่ BRN ล้มเจรจา

แกะปมคลิปใหม่ BRN ล้มเจรจา

แกะปมคลิปใหม่ BRN ล้มเจรจา...ทางวิบากของกระบวนการสันติภาพ

ตั้งแต่วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงเมื่อวานนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 8 เดือน 8 (8 ส.ค.) มีข่าวทั้งที่นำเสนอกันอย่างครึกโครมและที่พูดกันปากต่อปากเกี่ยวกับอนาคตของโต๊ะพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ หลายต่อหลายเรื่อง นำมาซึ่งความสับสนและถามไถ่กันอย่างกว้างขวาง

บ้างก็ว่า นายฮัสซัน ถูกปลดจากแกนนำบีอาร์เอ็นแล้ว บ้างก็ว่าถอดใจ ขอยุติบทบาทที่เกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ และล่าสุดคือคลิปปริศนาอ้างมติสภาซูรอของบีอาร์เอ็นสั่งยุติการพูดคุยเจรจา หนำซ้ำ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ยังออกมาให้สัมภาษณ์แบ่งรับแบ่งสู้ทำนองว่า โต๊ะพูดคุยยังไม่ล้ม แต่ขอชะลอเอาไว้ก่อน ยิ่งทำให้หุ้นสันติภาพตกวูบ

ข่าวคราวทั้งหมดนี้สามารถนำมาแยกแยะวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตได้เป็น 3 ประเด็น กล่าวคือ

1.การเลื่อนนัดพูดคุยหรือชะลอการพูดคุย ยังมีข้อน่าสงสัยว่าการเลื่อนนัดพูดคุยจะเกิดขึ้่นได้อย่างไร เพราะทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นยังไม่ได้กำหนดวันนัดพูดคุยกันเลย ส่วนวันที่ 18 ส.ค.ที่มีบางฝ่ายอ้างถึงนั้น เป็นวันสุดท้ายของข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันช่วงเดือนรอมฎอน (30 วัน) บวกกับเดือนเซาวาล (เดือนต่อจากเดือนรอมฎอน) อีก 10 วัน (ช่วงเทศกาลฮารีรายอและต่อเนื่องจากนั้น คือวันที่ 10 ก.ค.ถึง 18 ส.ค.) รวมเป็น 40 วัน

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการที่พูดคุยตกลงกันไว้เมื่อ 13 มิ.ย.2556 และ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย แถลงเมื่อ 12 ก.ค. โดยหลังจากวันที่ 18 ส.ค. มีการพูดกันไว้กว้างๆ ว่าจะประเมินสถานการณ์ช่วงลดเหตุรุนแรงร่วมกัน และกำหนดวันนัดพูดคุยครั้งใหม่ (ครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการ)

2.เรื่องคลิปปริศนาอ้างมติสภาซูรอ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่เชี่ยวชาญปัญหาชายแดนภาคใต้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคลิปน่าสงสัย เพราะสภาของบีอาร์เอ็นไม่เคยแถลงมติ และกระบวนการจัดทำคลิปก็ไม่ใช่มืออาชีพ เป็นคนละระดับกับทีมงานที่จัดทำคลิปให้นายฮัสซันและพวก ซึ่งมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่สามารถประสานงานตรงกับสำนักงานของบีอาร์เอ็นในมาเลเซีย และผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย ระบุว่าได้รับการยืนยันจากทั้ง 2 ส่วน (บีอาร์เอ็นและผู้อำนวยความสะดวกฯ) ว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพยังเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม เพียงแต่ยังไม่ได้นัดวันพุดคุยกันรอบใหม่

ยิ่งไปกว่านั้นคลิปถูกยังเผยแพร่ช่วงปลายเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงของการปฏิบัติศาสนกิจเข้มข้น และต้องเตรียมการสำหรับวันฮารีรายอที่ต้องมีการละหมาดใหญ่ที่มัสยิดในช่วงเช้าของวันรายอด้วย หากสภาซูรอซึ่งหมายถึง "สภาที่ปรึกษาอาวุโส" มีจริง ย่อมต้องประกอบด้วยอุสตาซหรือผู้นำศาสนาคนสำคัญของขบวนการ คนเหล่านี้น่าจะมีภารกิจล้นมือในห้วงปลายเดือนรอมฎอน ไม่น่าจะมีเวลามานั่งประชุมกันได้

ขณะที่ถ้อยคำที่ใช้ในคลิปค่อนข้างรุนแรง แฝงไปด้วยอารมณ์ เช่น การใช้คำว่า "ไม่สานต่อกระบวนการพูดคุยตลอดไป" เท่ากับเป็นการปิดตายการพูดคุย ซึ่งไม่น่าใช่เจตจำนงที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นรุ่นอาวุโส หรือการลงท้ายการแถลงด้วยคำว่า "เอกราช เอกราช เอกราช" น่าสังเกตว่าไม่เคยปรากฏในการแถลงของนายฮัสซันและพวก การใช้ถ้อยคำลักษณะนี้จึงไม่น่าเป็นมติของสภาซูรอ แต่น่าจะเป็นท่าทีของบรรดานักรบรุ่นใหม่ไฟแรงมากกว่า

3.เรื่องความขัดแย้งภายในของบีอาร์เอ็นจนทำให้ต้องล้มโต๊ะพูดคุย

การเผยแพร่เสียงสัมภาษณ์ล่าสุดของนายฮัสซัน 2 วัน คือ วันที่ 6 และ 7 ส.ค.ต่อเนื่องกันผ่านเครือข่ายวิทยุชุมชนที่ชายแดนใต้ ซึ่งบันทึกเทปจากการสัมภาษณ์ที่มาเลเซียเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ทำให้เกิดความสับสนโดยไม่ได้ตั้งใจ หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยเข้าใจว่าเป็นการสัมภาษณ์แบบสดๆ (live) ฉะนั้นเมื่อในช่วงเวลาเดียวกัน (6-7 ส.ค.) มีข่าวลือในเรื่องนายฮัสซันถอดใจออกมา และยังมีคลิปปริศนาอ้างมติสภาซูรอ จึงทำให้หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยตีความว่าภายในองค์กรของบีอาร์เอ็นขัดแย้งกันอย่างหนัก บ้างก็ว่ากลุ่มขบวนการรุ่นใหม่ (นับรบในพื้นที่) ยึดอำนาจรุ่นเก่า (กลุ่มนายฮัสซัน) แล้ว

ต้องเข้าใจว่าปัญหาการวิเคราะห์โครงสร้างและสถานการณ์ภายในบีอาร์เอ็นของหน่วยงานความมั่นคงไทยค่อนข้างมีปัญหา เพราะมีผู้รู้ข้อมูลภายในค่อนข้างน้อย เมื่อเจอกับสงครามข่าวลือทั้งในและนอกพื้นที่จึงทำให้ยิ่งสับสน ส่วนข่าวที่อ้างว่านายฮัสซันถอดใจ หรือถูกปลดจากสภาบีอาร์เอ็นนั้น เจ้าตัวได้ตอบไว้แล้วในการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดกับสื่อมุสลิมจากชายแดนใต้ที่ไปบันทึกเทปกันที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ดังกล่าว

แต่ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าบีอาร์เอ็นจะเลิกหรือล้มกระบวนการพูดคุยหรือไม่ บีอาร์เอ็นแตกคอกันเองจริงหรือเปล่า กลุ่มใหม่ยึดอำนาจกลุ่มเก่าใช่ไหม ฯลฯ ยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่ส่งผลดีกับไทยมากนัก เพราะปัญหาความไม่สงบยังคงเดิม การก่อเหตุรุนแรงยังมีเหมือนเดิม ผู้บริสุทธิ์ยังคงต้องตาย ความคิดไม่ไว้วางใจรัฐ หรือกระทั่งกระแสความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชยังมีอยู่ การกระทำของรัฐที่ยังสร้างเงื่อนไขก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุนี้...โต๊ะพูดคุยเจรจาหากจะเกิดขึ้นต่อๆ ไปจะเต็มไปด้วยความท้าทายและอ่อนไหวอย่างมาก

ยิ่งบีอาร์เอ็นหรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐแตกแยกเป็นกลุ่มย่อย ในบางมิติอาจยิ่งไม่เป็นผลดีกับไทย เพราะการก่อการร้ายสมัยใหม่ใช้คนแค่ 4-5 คนก็ก่อเหตุรุนแรงได้ทุกที่ ทุกเวลา และยิ่งทำให้การพูดคุยเจรจาเพื่อสถาปนาสันติภาพยากขึ้นไปอีก

รัฐบาลกับหน่วยงานความมั่นคงจึงน่าจะตั้งหลักใหม่แล้วแก้ปัญหากันจริงๆ จังๆ โดยมุ่งไปที่ประชาชนคนพื้นที่ส่วนใหญ่ เอาชนะใจประชาชนให้ได้ตามยุทธศาสตร์ win heart and mind ที่ท่องกันจนขึ้นใจ แต่แทบจะไร้ผลในทางปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเขาบ่นว่าปัญหาและปมคาใจต่างๆ ยังไม่ถูกแก้หรือคลี่คลายเลยแม้แต่น้อย