จับสัญญาณเลือกตั้ง 'ผู้ว่าฯกทม.' เดิมพัน4 ล้านเสียงคนกรุงเทพฯ
ผ่านโหมดเลือกตั้งระดับชาติ 24 มี.ค. มา 5 เดือนเต็ม จากภาพใหญ่ทางการเมืองที่ขับเคี่ยวระหว่างขั้วอำนาจ “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย” แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึง โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
จะเป็นอีกการชิงอำนาจครั้งสำคัญจากหลายพรรคการเมือง ภายหลังต้องเว้นวรรค “ผู้ว่าฯ กทม.” ที่มาจากการเลือกตั้งเกือบ 4 ปีเต็ม
หากย้อนผลเลือกตั้งครั้งหลังสุด เมื่อ 3 มี.ค.2556 เสียงคนกรุงเทพฯ 1,256,349 คะแนน ส่งให้ “สุขุมพันธุ์ บริพัตร”ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนมากที่สุดในประวัติการณ์ เหนือคู่แข่งจากเพื่อไทย “พงศพัศ พงษ์เจริญ” เพียง 1.7 แสนคะแนน ทำให้ขุนพลประชาธิปัตย์ เข้ามาต่ออายุการครองอำนาจในศาลาว่าการ กทม.ที่ผ่านมายาวนาน ตั้งแต่ยุค “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ชนะการเลือกตั้ง 30 ส.ค.2547
จากจำนวนตัวเลข ส.ส.กทม.ถูกหั่นลงเหลือ 30 ที่นั่งจาก 33 เขต ยิ่งบีบเร้าการต่อสู้ฝั่ง “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-อนาคตใหม่” ถึงแม้ “แชมป์เก่า” อย่างประชาธิปัตย์จะถือ “แต้มต่อ” จากประสบการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาหลายสมัย แต่ภายหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา กลายเป็น “พลังประชารัฐ” ได้เก้าอี้ ส.ส.กทม. มากกว่าพรรคอื่น เป็น “ขุมกำลัง” ใหม่เพื่อเปิดตัวท้าชิงคะแนนจากคนกทม.ไปด้วย
การเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ขุนพลจากประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. กทม. แม้แต่เขตเดียว จากเดิมการเลือกตั้ง 3 ก.ค.2544 “ประชาธิปัตย์” ได้ ส.ส.กทม.ถึง 23 ที่นั่ง ทิ้งให้ “เพื่อไทย” ได้ ส.ส.เพียง 10 ที่นั่ง ตรงกันข้ามกับ “พลังประชารัฐ” ได้ ส.ส.มากที่สุด 12 ที่นั่ง “อนาคตใหม่” 9 ที่นั่ง และ “เพื่อไทย” อีก 9 ที่นั่ง โดยคะแนนป๊อปปูล่าโหวตสูงสุด อยู่ที่ “อนาคตใหม่” 804,272 คะแนน ส่วน “พลังประชารัฐ” ได้ 791,893 คะแนน และ “เพื่อไทย” 604,699 คะแนน
ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ มีตัวเลือกหลักแค่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” แต่การเลือกตั้งรอบนี้ คนกรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วย “ทางเลือก” เริ่มโฟกัสไปที่ “อนาคตใหม่” ออกมายืนยันแล้วว่าจะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับผู้แสดงความจำนง
สปอตไลต์จับไปที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เล่นเกมปล่อยข่าวพร้อมลงชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.” ส่งสัญญาณขู่ไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” หากไม่ปลดล็อกให้ทำหน้าที่ ส.ส. ได้ ก็พร้อมจะลาออก ส.ส. ลงชิงเก้าอี้เบอร์หนึ่งเมืองหลวง
ส่วนตัวเต็งอีกคนจับตา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่สร้างชื่อจากทฤษฎี “กระดุม 5 เม็ด” แก้ปัญหาเกษตรกร
ขณะที่ “เพื่อไทย” อาจจะไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค เนื่องจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรมว.คมนาคม สายตรง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จะลงสมัครในนามอิสระ ไม่สังกัดค่ายการเมือง เพราะไม่ใช่เด็กสายตรง “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ซึ่ง “เพื่อไทย” คงต้องหลบให้กับ “ชัชชาติ”
ทั้ง “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” มีฐานเสียงที่ทับซ้อนกันอยู่ จึงต้องจับตาว่า จะเล่นบทหักดิบ เลือกส่งผู้สมัครแย่งคะแนนกันเอง หรือจะหลบฉาก เทคะแนนให้กับ “พรรคพี่” ซึ่งต้องวัดใจกันในโค้งสุดท้าย
ขณะที่แชมป์เก่า “ประชาธิปัตย์” ต้องกุมขมับ เพราะต้องคอยเช็คกระแสจากพรรคอื่นเพื่อ “แก้เกม”ท่ามกลางข่าวเตรียมผลักดัน “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ “องอาจ คล้ามไพบูลย์-อภิรักษ์ โกษะโยธิน-กรณ์ จาติกวณิช” หรือกระทั่งเสียงเชียร์ให้กระดูกเบอร์ใหญ่ “อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ” ให้ลงมาสมัครเลือกตั้งในสนามผู้ว่าฯ กทม.
ส่วน “ภูมิใจไทย” ออกสตาร์ทไปก่อนหน้านี้ โดยการดึงอดีต ส.ส.-ส.ก.-ส.ข. หลายเขตเข้าพรรค อาทิ สุวัฒน์ ม่วงสิริ ส.ส.จอมทอง ปราณี เชื้อเกตุ ส.ก.บางเขน สายรุ้ง ปิ่นโมรา ส.ก.คลองสามวา ณัทวุฒิ หมัดนุรักษ์ ส.ก.สวนหลวง พงศ์ไฟศาล มะลูลีม ส.ข.มีนบุรี อำนวย ชัยพรประเสริฐ ส.ข.สายไหม ณิฐ์ภาวรรณย์ จ้อยเอม ส.ข.ดอนเมือง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ภูมิใจไทยจะส่งตัวแทนสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้หรือไม่
ขณะที่ “พลังประชารัฐ” แน่นอนว่า จะระดมทุกสรรพกำลัง ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ถึงแม้จะมีกระแสเรียกร้องให้เสนอ “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าฯ พะเยา ลงสมัครเลือกตั้ง แต่ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมายืนยันเป็นเพียงข่าวที่ถูกปล่อยออกมาเช็คกระแส เพราะขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนสรรหาผู้สมัครในนามพลังประชารัฐ
ทว่า สุ้มเสียงจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยังดังไม่ชัดเจนว่าจะลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่ เพราะจากกระแสเดิมที่ “พลังประชารัฐ” เคยวางให้ “อัศวิน” เตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในโมเดลเดียวกับ “ประยุทธ์” ที่เคยวางไว้ในตำแหน่งนายกฯ แต่จากการบริหารงานของ “บิ๊กวิน” ตลอดช่วงหลายปีที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ถือว่ายัง "ไม่เข้าตา” คนกรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมขัง การดูแลเมืองที่ขยายตัวเกินการควบคุม
ยังไม่นับปัญหารถมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ปัญหาจราจรที่กระทบมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า การเดินหน้ามาตรการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย หรือความคาดหวังจากภาพ “บิ๊กวิน” ที่เคยเด็ดขาดสมัยรับราชการตำรวจ ทำให้พลังประชารัฐยังไม่ชัดเจนว่า หากส่งอัศวินมาเป็นตัวแทนพรรค จะสู้กับผู้สมัครจาก “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” ได้แค่ไหน
ทำให้มีเสียงเล็ดลอดเป็นระยะในกลุ่ม กทม.ภายในพลังประชารัฐ ต้องการผลักดัน “สกลธี ภัททิยกุล” รองผู้ว่าฯกทม.ที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 10 เม.ย.2561 โดย “ณัฐพล” ถือว่าเป็นอีกเสียงที่แสดงความสนใจ “สกลธี” มาเป็นตัวแทนพรรค จากประสบการณ์ ความเป็นคนรุ่นใหม่และการเข้าถึงง่ายในตัว ที่สำคัญ “สกลธี” ยังเป็นแกนนำ กปปส. คนสำคัญแนวร่วมเดียวกัน “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์-ชุมพล จุลใส” ซึ่ง 2 ชื่อแรก “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” ขึ้นระดับรัฐมนตรีไปแล้ว
“สเปค” ที่พลังประชารัฐวางไว้เบื้องต้น ต้องมีความสามารถบริหารองค์กรใหญ่ คุ้นเคยเข้าใจระบบการทำงานใน กทม. และต้องเป็นมือประสาน ส.ก. ส.ข.ได้ ซึ่ง “พุทธิพงษ์” ในฐานะเป็นประธานยุทธศาสตร์ใน กทม. คงไปเช็คโพลจากคนกรุงเทพฯ เมื่อถึงนาทีที่พลังประชารัฐ เคาะ ให้ผู้สนใจเข้ามาแสดงความจำนงเป็นตัวแทนพรรคไปลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะต้องยอมรับว่ากระแสคนกรุงเทพฯ มีวิธีคิดในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. แตกต่างจากการเลือกตั้งในภาพใหญ่เช่นกัน
นอกจากนี้ หากมองไปที่ “เค้กก้อนใหญ่” ในงบประมาณ กทม. ยังถือว่าสูงกว่าหลายหน่วยงาน โดยในปีงบประมาณ 2562 กทม.มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 80,445 ล้านบาท โดยมีงบที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอีก 21,918.96 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป 18,214.72 ล้านบาท และงบอุดหนุนเฉพาะกิจ 3,704.24 ล้านบาท รวมงบประมาณที่ใช้ในการบริหารในปี 2562 อยู่ที่ 102,363 ล้านบาท
ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ถูกเพิ่มจากเดิมอีก 2,943 ล้านบาท จากมติที่ประชุมสภากทม.วาระที่ 2 และ 3 ล่าสุดเมื่อ 26 ก.ค.2562 เห็นชอบร่างข้อบัญญัติฯงบประมาณ ทั้งสิ้น 83,398 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย “สำนักการโยธา” 9,229 ล้านบาท “สำนักการระบายน้ำ” 8,213 ล้านบาท และ “สำนักสิ่งแวดล้อม” 7,542 ล้านบาท จึงเป็นขุมกำลังใหญ่ที่ฝ่ายการเมืองต้องการเข้ามามีอำนาจบริการ กทม. ในฐานะหน่วยงานที่คุมผลงานและงบประมาณมากที่สุดแห่งหนึ่ง
เมื่อจับสัญญาณความตื่นตัวของคนกรุงเทพฯ จากการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 พบว่ามีจากสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิมากถึง 72% หรือ 3,247,813 คน จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,498,058 คน เป็นฐานเสียงสำคัญที่จะชี้ขาดในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ และหากนับเฉพาะตัวเลข “นิวโหวตเตอร์” ทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 จะมีตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง “หน้าใหม่” ถึง 3.6 ล้านคน
อีกไม่นานทุกพรรคการเมือง จะเริ่มเปิดหน้าชน เททุกหน้าตัก เพื่อเข้ายึดสนาม กทม. ที่มีงบประมาณบริหารหลายหมื่นล้านบาทต่อปี เป็นการนับถอยหลังการแข่งขัน ที่ชี้วัดฐานอำนาจทางการเมือง โดยมีเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นเดิมพัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-‘ผู้ว่า กทม.’ แจงปมเตาเผาขยะ ย้ำไม่เกี่ยวรองผู้ว่าฯลาออก
-จับสัญญาณเลือกตั้ง 'ผู้ว่าฯกทม.' เดิมพัน4 ล้านเสียงคนกรุงเทพฯ
-'ผู้ว่าฯกทม.' นำตักบาตร พระสงฆ์ 68 รูป 'วันมาฆบูชา'
-'ขอโทษปชช.' ผู้ว่าฯกทม.เร่งแก้น้ำท่วม ชี้ปริมาณฝนตกมาก