กมธ.ดีอีเอส โชว์ผลงาน 4 ด. 5G ลดเหลื่อมล้ำ
"กัลยา" โชว์ผลงาน "กมธ.ดีอีเอส" กว่า 4 เดือนลุยลงพื้นที่เตรียมพร้อม 5G ลดเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการศึกษา-การแพทย์ ด้าน "ภาดาท์" สัญญา กมธ.จะทำงานหนักเพื่อประโยชน์ปชช.ต่อไป
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 62 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กรรมาธิการฯ ดีอีเอส กล่าวถึงภาพร่วมการทำงานของกรรมาธิการฯ ดีอีเอสในช่วงที่ผ่านมา ว่า ตั้งแต่กรรมาธิการฯ ดีอีเอส ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน มาถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้ว ซึ่งเราได้ทำงานในส่วนที่กรรมาธิการฯ ดีอีเอสรับผิดชอบ ไม่ว่าจะการติดตามตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริง การศึกษา การส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกรรมาธิการฯ ดีอีเอส ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและศึกษาดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ครั้ง คือ ที่จังหวัดภูเก็ต กรรมาธิการฯ ดีอีเอส ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภูเก็ตให้เป็นต้นแบบของ "Smart city" และ "Smart Transit" เป็นการยกระดับระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้รวดเร็ว ปลอดภัย สอดคล้องต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เรายังได้ลงพื้นที่ จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในการเตรียมความพร้อมรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จังหวัดชลบุรีถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเป็น Hub ด้านดิจิทัลการสื่อสาร เพราะมีทั้งศูนย์ Data center มีระบบสื่อสารผ่านเคเบิลใต้น้ำ และมีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ภาคตะวันออก ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล เพราะเป็นแหล่งเชื่อมโครงข่ายทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างครบวงจร และสุดท้ายกรรมาธิการฯ ดีอีเอส ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อติดตามการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองหน้าด่าน การเตรียมความพร้อมในการดำเนินเรื่องรถไฟความเร็วสูงและ Smart city ติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ หรืออินเทอร์เน็ตชุมนุม USO net รวมทั้งยังได้ตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามแนวชายแดนที่มีปัญหาสัญญาณจากฝั่งประเทศลาวมีความแรงที่ส่งผลกระทบผู้ใช้บริการของฝั่งประเทศไทย
"คณะกรรมาธิการฯ ดีอีเอส เราเห็นความสำคัญของการลงพื้นที่ เพื่อที่จะได้สัมผัสปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งในด้านการใช้บริการเทคโนโลยีสื่อสารต่างๆ รวมถึงการติดตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต โดยเฉพาะ 5G ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษา การแพทย์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" น.ส.กัลยา กล่าว
ขณะที่ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การทำงานของกรรมาธิการฯ ดีอีเอส นอกจากการตรวจสอบติดตามงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานที่ผ่านมา เราได้ติดตามตรวจสอบไปยังผู้ให้บริการในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อแก้ไขซ่อมแซมให้จุดปล่อยสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสาร รวมทั้งเรายังได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้วย ส่วนในพื้นที่ กทม. กรรมาธิการฯ ดีอีเอส มีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของคน กทม. จึงได้ติดตามการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเส้นทางต่างๆ ให้เรียบร้อยโดยเร็ว และขอให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามการทำงานของกรรมาธิการฯ ดีอีเอส ในปี 2563 ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน