“กรมที่ดิน”แจง“ศรีพันวา”ถือครองที่ดินถูกต้อง-ไม่ได้อยู่บนเขตป่า

“กรมที่ดิน”แจง“ศรีพันวา”ถือครองที่ดินถูกต้อง-ไม่ได้อยู่บนเขตป่า

“กรมที่ดิน”แจง“ศรีพันวา”ถือครองที่ดินถูกต้อง-ไม่ได้อยู่บนเขตป่า มีเอกสารสิทธิครอบครอง

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยมีอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ และสุทัศน์ เงินหมื่น ตัวแทนจาก กมธ.กฎหมาย เข้าร่วม ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยกรรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาชี้แจง กรณี ตรวจสอบที่ดินโรงแรมศรีพันวา จังหวัดภูเก็ต 

 

โดยอภิชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นคำถามที่ต้องการทราบ เช่น โรงแรมศรีพันวาก่อสร้างเมื่อไหร่ มีที่ดินขนาดเท่าไหร่ จำนวนกี่แปลง เป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ที่ดินดังกล่าวเป็นป่า หรือเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ การออกเอกสารสิทธิเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีความชันเท่าไหร่ พร้อมขอให้แสดงเอกสารภาพถ่ายและขอบเขต ด้านสุทัศน์ ได้เพิ่มประเด็นกองทุนประกันสังคมที่ได้ให้รีสอร์ตศรีพันวากู้ยืมเงินด้วย

โดยในที่ประชุมนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดินได้ให้ข้อมูล ว่า ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ที่ดินดังกล่าวมีที่ดินทั้งหมด 79 ไร่ โดยที่ดินทั้งหมดเดิมเป็นของประชาชนที่อยู่ที่นั่น จนกระทั่งมีประมวลกฎหมายที่ดินออกมา ประชาชนจึงเข้ามาแจ้งครอบครองที่ดินเมื่อปี 2498 ส.ค1.ทั้งหมด ต่อมาออกเป็น นส.3 และ นส.3ก.

ซึ่งที่ดินทั้งหมด ทางกรมที่ดินได้ตรวจสอบตำแหน่งทิศทางแล้วถูกต้อง ต่อมาโครงการศรีพันวาก็ได้เข้าไปซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2546, ปี 2558, ปี 2559 ซึ่งเป็นการซื้อต่อเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่ จากการตรวจสอบการซื้อขายก็เป็นไปอย่างถูกต้อง แต่มีคำถามว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้หรือไม่

“จากข้อมูลแผนที่พบว่าที่ดินแปลงนี้ก็ไม่ได้อยู่บนเขตป่าไม้แต่อย่างใด ส่วนเป็นเขามีความลาดชันนั้น พบว่า เป็นที่เขาจริง และมีความลาดชันจริง แต่การมีเอกสารสิทธินั้นเป็นไปได้ที่จะได้รับสิทธิครอบครอง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นของประชาชนมาก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายถ้าประชาชนอยู่มาก่อนการประกาศบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนก็ได้สิทธิในการครอบครองพื้นที่”

ขณะที่ ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ป่าแต่อย่างใด เป็นการออกเอกสารสิทธิในเขตป่าไม้ตาม พ.ร.บ.2484 สามารถทำได้ ตามมาตรา4 คือประชาชนแจ้งสิทธิครอบครองตามกฎหมายที่ดินไว้ก่อนกฎหมายจะออก การออกเอกสารสิทธิในส่วนนี้กรมป่าไม้จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง 

 

อย่างไรการตามในที่ประชุม สุทัศน์ ได้เสนอให้นักวิชาการเข้าไปตรวจสอบความลาดชันของพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ที่ต้องการเช่นนี้เพราะไม่ใช่ไม่มั่นใจการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ แต่คณะกรรมาธิการไม่มีความรู้