การเมือง
"สุรชัย" จ่อ ลงมติรับ "ร่างแก้รัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา" เพื่อรักษาหลักการแก้รัฐธรรมนูญ
กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ นำเสนอรายงาน แต่ไม่มีบทสรุปที่ชี้ชัด "ส.ว." ขอคำอธิบาย หากไม่ชัดต่อใช้สิทธิ์รับหลักการร่างแก้ไขแบบรายมาตรา เพื่อรักษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันแรกนั้น ได้เริ่มต้นพิจารณารายละเอียดของรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 6 ฉบับก่อนรับหลักการ ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.
โดย 6 ฉบับประกอบด้วย 1. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และตั้งหมวดใหม่ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉบับของพรรคฝ่ายค้าน , 2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และตั้งหมวดใหม่ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล, 3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 ของพรรคฝ่ายค้าน, 4. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ของพรรคฝ่ายค้าน, 5. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 279 และ 6. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ของพรรคฝ่ายค้าน
ทั้งนี้นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะ กมธ. ชี้แจงต่อที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญของรายงานคือ การพิจารณาประเด็นข้อกฎหมาย ใน 4 ประเด็น คือ 1. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่1 และฉบับที่2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 -22/2555 หรือไม่ กมธ. มีความเห็น2 แนวทาง คือขัด และไม่ขัด, 2. การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามร่างแก้ไขฉบับที่1 และฉบับท่ี 2 ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ และต้องออกเสียงกี่ครั้ง โดยกมธ. มีความเห็นทั้ง 2 แนวทางคือ ไม่ต้องทำประชามติก่อน เพราะบทบัญญัติกำหนดให้ทำประชามติหลังจากผ่านการพิจารณาวาระสาม อีกแนวทางคือต้องทำประชามติเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้นผ่านการทำประชามติมาก่อน
นายนิกร กล่าวด้วยว่า 3. ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอื่นใดของพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ กมธ. พิจารณาแล้วว่ามี38 มาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งนี้โครงสร้างพระราชอำนาจนั้นควรวางหลักการเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขที่ขัดต่อมาตรา 255 , 4. กรณีที่รัฐสภารับหลักการ ฉบับที่1 และฉบับที่ 2 และร่างที่3-6 ที่เสนอแยกเป็นรายมาตรา นั้นกมธ. เห็นว่าทำได้ แต่อาจทำให้มีผลเกิด2องค์กรทับซ้อนด้านอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่พึงกระทำ และมีความเห็นต่อไปคือ หากรับหลักการฉบับที่ 1 และ ฉบับ2 ไม่รับหลักการฉบับที่ 3-6 แล้วส.ส.ร. จะแก้ไขมาตราที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่ กมธ. เห็นว่า ทำได้ เพราะเป็นอำนาจของส.ส.ร. แต่ต้องเป็นไปภายใต้มาตรา 255 อย่างเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภานั้นท้วงติงต่อรายละเอียดที่นำเสนอ ซึ่งไม่มีบทสรุปที่ชี้ชัด ดังนั้นถือเป็นการทำงานที่ผิดความคาดหวังและเสียเวลา
ทั้งนี้มีสมาชิกอภิปรายซักถามในรายละเอียด โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายซักถามว่า กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ นั้นคือ การให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งขัดต่อหลักการแห่งหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ให้อำนาจเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่กมธ. นำเสนอรายงานนั้นน่าผิดหวัง เพราะไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน ส่วนคำอธิบายต่อการทำประชามตินั้น มาตรา 256(8) กำหนดให้ทำหลังพ้นวาระ3 แล้ว ตนมองว่าในรายละเอียดคือการวางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากแก้ไขในเรื่องสำคัญต้องทำประชามติ ไม่ใช่หลักการของการทำประชามติ “รัฐสภาต้องรักษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปกป้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากในรายงานที่ยังมีความเห็นไม่ชัดเจนดังนั้นในอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาจึงไม่ชัดเจน ดังนั้นควรทำให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18 -22/2555 ระบุให้ทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม หากจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติ ดังนั้นควรทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ส่งเรื่องทำประชามติสอบถามประชาชน ก่อนแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาา แต่หากกมธ. ไม่สามารถตอบคำถามได้ ผมขอใช้เอกสิทธิ์เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา และยินดีปิดสวิซต์ส.ว. ทั้งนี้การตัดสินใจลงมติขอให้เป็นไปอย่างอิสระ ไม่ควรถูกกดดัน” นายสุรชัย กล่าว
ทั้งนี้ในการอภิปรายของส.ว.นั้นยังมีทิศทางเดียวกันต่ออำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา ที่ทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตราา หรือ การแก้ไขด้วยวิธีการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ที่ให้อำนาจ ส.ส.ร. ดำเนินการ.