ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สัปดาห์นี้ ได้บรรจุเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฐานะหน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐบาล ต่อข้อศึกษาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. ไว้ในวาระแจ้งเพื่อทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าวาระดังกล่าว สืบเนื่องมาจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรายงานของกมธ.ฯ และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาและทำบันทึกข้อสังเกต ก่อนแจ้งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรให้รับทราบถึงผลพิจารณาและข้อสังเกต
ตามในบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบผลพิจารณารายงานพิจารณาศึกษา ปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของกมธ.ฯ มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำได้หรือไม่ และควรทำประชามติจากประชาชนก่อนหรือไม่ ทั้งนี้ควรพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง คือ คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ที่มีสาระสำคัญว่าการแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญควรทำเป็นรายมาตรา แต่การแก้ไขที่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั้น ควรทำประชามติถามผู้ให้สถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจก่อตั้งระบบกฎหมาย ส่วนองค์กรที่ใช้อำนาจในทางการเมืองเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับควรจัดให้ออกเสียงประชามติจากประชาชนก่อน และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 กรณีรูปแบบและวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขที่มาส.ว.มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรที่ต้องปฏิบัติตาม
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะมาตรา 256 ว่ากระทำได้หรือไม่นั้น ในแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้แทนสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงยืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีเนื้อหาที่แตกต่างออกไป เพราะมีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและจัดให้ออกเสียงประชามติไว้ ส่วนประเด็นวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขเบื้องต้นของมาตรา 255 ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามหมวด 15 ทำได้ แต่การแก้ไขเพิ่มเติมควรคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายถึงแนวทางแก้ขไเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้”
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในบันทีกความเห็นของกฤษฎีกายังระบุความสำคัญในตอนท้ายด้วยว่า "รายงานของกมธ. เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจน ให้มีความชัดเจนได้ แต่การแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งอาจมีการยกประเด็นเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วย ว่าบันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในช่วงจังหวะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา ใกล้แล้วเสร็จ และยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาความชอบของอำนาจในการแก้ไข ที่มีญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ร่วมยื่นญัตติให้รัฐสภาลงมติส่งเรื่องตีความยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยอำนาจของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งในบทสรุปความเห็นของกฤษฎีกาที่เป็นฝ่ายกฎหมายของรัฐสภานั้น อาจมีผลที่ทำให้กระทบต่อการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา วันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ นี้ได้.