ชัยวุฒิปัด'นายกฯ'ถกลับ'มินอ่องหล่าย' เตือนสื่อญี่ปุ่นระวังรายงานข้อมูลคลาดเคลื่อน
"ชัยวุฒิ" ปัด "นายกฯ" หารือ "มิน อ่อง หล่าย" ในทางลับ หลัง สื่อญี่ปุ่น นำเสนอ เตือน ระวังการนำเสนอ หวั่น กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แจง จุดยืนไทย ต่อสถานการณ์เมียนมา เป็นไปตามกลไกอาเซียน พบ อดีตขรก. ขั้วอำนาจเก่าให้ข้อมูล
จากกรณีที่สำนักข่าวชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น Nikkei Asia นำเสนอว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการติดต่อกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทางทหารของเมียนมาผ่านช่องทางการติดต่อประตูหลัง (Back door diplomacy) ก็สามารถสื่อสารกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพบปะกัน โดยมีการถูกแชร์ต่อในโซเชียลมีเดียไทยอย่างกว้างขวางนั้น
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti fake news center) ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า ข้อมูลที่สื่อนำเสนอมีความคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง สร้างความสันสนให้กับผู้รับข่าวสารอย่างมาก และกังวลว่าเรื่องนี้จะบานปลาย กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหลายมิติ ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ในประเทศเมียนมาพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยติดต่อกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตามช่องทางตามที่สำนักข่าวดังกล่าวนำเสนอ และไม่มีบุคคลระดับสูงที่ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปบอกกับทางสำนักข่าวต่างชาติอย่างแน่นอน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นายกฯ ไม่มีความจำเป็นจะต้องติดต่อกันในทางลับ ตามที่สำนักข่าวญี่ปุ่นนำเสนอ ซึ่งอ้างอิงบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวว่าเป็นคนให้ข้อมูล ไม่เปิดเผยหรือระบุตัวตนให้ชัดเจนดังนั้น การนำเสนอเรื่องที่ละเอียดอ่อนควรระมัดระวังและรับผิดชอบให้มากกว่านี้ เพราะอาจเกิดผลกระทบในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ประเทศไทยและเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ชายแดนติดต่อกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกด้าน จึงมีกลไกการหารืออย่างเป็นทางการระหว่างกันในหลายระดับอยู่แล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย แต่อย่างใด และที่ผ่านมานายกฯไทยก็ยืนยันในหลายวาระแล้วว่า การแก้ไขปัญหาของเมียนมา ถือเป็นกิจการภายใน โดยไทยมีจุดยืนต่อสถานการณ์ในเมียนมา ตามกลไกการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังพบว่าแหล่งข่าวที่สำนักข่าวญี่ปุ่นอ้างอิงนั้นเป็นอดีตข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศไทย เป็นคนของกลุ่มอำนาจเก่าและมีจุดยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้ว แต่กลับอ้างว่าเป็นแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงต้องถามว่า การปล่อยข่าวและการเสนอข่าวเช่นนี้มีวัตถุประสงค์ใด เป็นความพยายามดิสเครดิตรัฐบาลไทย และพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่