กทม.ลุยตรวจ 'โควิด' กลุ่มเสี่ยงโรงงาน 'อาหาร-ยา-ตัดเย็บเสื้อผ้า' 122 แห่งเริ่ม 15 ก.ค.นี้
กทม.ลุยตรวจ "โควิด" กลุ่มเสี่ยงโรงงาน "อาหาร-ยา-ตัดเย็บเสื้อผ้า" 122 แห่งเริ่ม 15 ก.ค.นี้
วันที่ 21 มิ.ย. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2564 โดยในที่ประชุมสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กทม. โดยในวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศ จำนวน 3,175 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 624 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 60,366 ราย
ทั้งนี้ มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน จากแคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และอื่นๆ (เนอร์สซิ่งโฮม) รวมจำนวน 78 คลัสเตอร์ โดยระหว่างวันที่ 24 พ.ค. – 11 มิ.ย. กทม.ได้ตรวจแนะนำและกวดขันให้ผู้ประกอบการตลาดในปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 482 แห่ง จากจำนวนตลาดในพื้นที่ทั้งสิ้น จำนวน 486 แห่ง คงเหลือตลาดที่ยังไม่ได้ตรวจ 4 แห่ง ซึ่งเป็นตลาดในพื้นที่เขตบางกะปิ เนื่องจากมีคำสั่งปิดตลาดปิดตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. และยังไม่มีกำหนดเปิด ได้แก่ 1.ตลาดสดลาดพร้าว 2.ตลาดกลางเมืองบางกะปิ 3.ตลาดสดบางกะปิ และ 4.ตลาดนางสาวอาภาภรณ์ ภักดีจรัส
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังรายงานตามแผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ จากข้อมูล ณวันที่ 16 มิ.ย. มีไซต์ก่อสร้าง 615 แห่ง แคมป์ก่อสร้าง 575 แห่ง โดยมีคนงานที่พักในแคมป์เป็นคนไทย 34,148 คน เป็นคนต่างชาติ 46,915 คน รวม 81,063 คน ซึ่ง กทม.ได้กำหนดมาตรการออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 ผู้ประกอบการ โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ตรวจประเมินตนเอง ตามมาตรการ SOP-Bubble Protocol ในแคมป์ที่พักคนงาน ภายใน 7 วัน (ระหว่างวันที่ 16-22 มิ.ย. 64) และส่งผลการตรวจฯ ให้สำนักงานเขตรวบรวมเพื่อติดตามตรวจสอบ
ระดับที่ 2 สำนักงานเขต โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายโยธา ลงตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการ SOP-Bubble Protocol ของแคมป์คนงาน (ระหว่างวันที่ 23-30 มิ.ย. 64) และส่งข้อมูลให้สำนักอนามัยเป็นประจำทุกวัน เพื่อรายงาน ศปก.ศบค.
ระดับที่ 3 ฝ่ายความมั่นคงร่วมกับสำนักการโยธา สำนักอนามัย กรมอนามัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ SOP-Bubble Protocol ของแคมป์คนงาน
ขณะเดียวกัน กทม.ยังเตรียมดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคโควิด-19 ในโรงงาน จำนวน 122 แห่ง จำนวน 3 ประเภท ดังนี้ 1.อาหาร แปรรูป จำนวน 19 แห่ง 2.ยา จำนวน 12 แห่ง และ 3.ตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน 91 แห่ง ซึ่งจะเริ่มตรวจในวันที่ 15 ก.ค. เป็นต้นไป