ม็อบ 2 แนวทาง จุดเสี่ยง ‘อนาธิปไตย’
สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ เปรียบได้กับศึกวันแดงเดือด เพราะเกมบนท้องถนนจะแสดงพลังกันหลายกลุ่ม แยกได้เป็น 2 แนวทางคือ ไล่ประยุทธ์ กับไล่ประยุทธ์ พ่วงปฏิรูปสถาบันฯ
อาการหิวเลือด ไม่ได้เกิดเฉพาะฝ่ายขวา ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายก็หิวเลือดเหมือนกัน ยกตัวอย่างพล พต ประมุขเขมรแดง
แวดวงปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยบ้านเรา มีนักวิชาการอาวุโสบางคน ประเมินสังคมไทยในยุคโควิด ผู้คนโกรธแค้นรัฐบาลที่ปล่อยให้คนป่วยเรือนหมื่น คนตายหลักร้อยรายวัน พวกเขาโกรธพอที่จะก่อจลาจลได้
หากย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว นักวิชาการคนนี้น่าจะถูกพวกเดียวกัน ชี้หน้าวิพากษ์ว่าเป็นลัทธิสุ่มเสี่ยงเอียงซ้าย บังเอิญวันเวลาชุดความคิดสังคมนิยม ได้ผ่านเลยไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้อยวลี “โกรธพอที่จะก่อจลาจลได้” ไม่ต่างอะไรกับการสาดน้ำมันลงไปในกองเพลิง ไม่แปลกที่แกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะออกอาการ “ห้าวเกินพิกัด”
สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ เปรียบได้กับศึกวันแดงเดือด เพราะเกมบนท้องถนนจะแสดงพลังกันหลายกลุ่ม แยกได้เป็น 2 แนวทางคือ ไล่ประยุทธ์ กับไล่ประยุทธ์ พ่วงปฏิรูปสถาบันฯ
“ม็อบ 1 สิงหา” คือแนวทางไล่ประยุทธ์ ผ่านรูปแบบคาร์ม็อบ และจะขยายไปเป็นคาร์ม็อบทั่วไทย ภายใต้ร่มธงแดงผืนใหม่ ไม่ใช่ นปช.
“ม็อบ 7 สิงหา” คือแนวทางไล่ประยุทธ์ และปฏิรูปสถาบัน ฉะนั้น วันที่ 7 ส.ค.2564 จะเบิกโรงด้วยปฏิรูปสถาบัน และวันที่ 10 ส.ค.นี้ ก็จะไล่ประยุทธ์ และองคาพยพ
อานนท์ นำภา พยายามประดิษฐ์วาทกรรม “สันติวิธีเพดานสูงสุด” ที่อธิบายความได้ว่า “..การต่อสู้ต่อไปนี้จะมีความหมายมาก เพราะไม่ใช่อีเวนต์ กิจกรรมแบบสัมมนา การชุมนุม คือการเอาชีวิตและความเจ็บปวดเข้าแลก เสี่ยงกับกระสุนและโควิด ที่เขาเรียกว่าสู้ตาย”
ฟังคำปราศรัยเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ก็ไม่ต่างจากอานนท์ คือ บวกเป็นบวก
ส่วนแนวทาง “ม็อบ 1 สิงหา” สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้จัดคาร์ม็อบ ที่เน้นสันติวิธี “ไม่เอาปะทะ ไม่เอาวุ่นวาย”
ที่น่าจับตาในปีกนี้คือ บทบาทของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่กลับมาปรากฏตัวบนท้องถนนอีกครั้งในกิจกรรมคาร์ม็อบ
ดูเหมือนว่า “เต้น” ได้รับการต้อนรับจากเอฟซีราวกับพระเอกเสื้อแดง และเขาได้เขียนบันทึกไว้ในเฟซบุ๊คว่า “คาร์ม็อบ 1 สิงหาคมคือ พลังบริสุทธิ์มหาศาลที่ข้ามพ้นข้อจำกัดโรคระบาด เพื่อแสดงฉันทามติขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์พ้นตำแหน่งนายกฯ..”
“เต้น” จึงเดินหน้าจัดตั้ง“เครือข่ายไล่ประยุทธ์” (อ.ห.ต.) และคาดว่า ภายในสัปดาห์นี้ คงได้เห็นโฉมหน้าองค์กรการเมืองใหม่ แทนที่ นปช.
ขบวนทัพของ “เต้น” มีอยู่แล้วคือ สำนักข่าว UDD news และเครือข่ายเสื้อแดงในต่างจังหวัด มินับการสนับสนุนจาก “เฮียเจ้าเก่า” ที่เป็นใหญ่เป็นโตในพรรคเพื่อไทยวันนี้
แกนนำ นปช. อย่างก่อแก้ว พิกุลทอง พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ เหวง โตจิราการ และธิดา ถาวรเศรษฐ์ ก็พร้อมจะยืนเคียงเขา รวมถึงอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง น่าจะเข้าร่วมเครือข่ายไล่ประยุทธ์ของเต้น
ในสายตาคนเสื้อแดง “เต้น” ยังเป็นขวัญใจของพวกเขา ต่างจาก “จตุพร พรหมพันธุ์” ที่ถูกมองว่า จุดยืนเปลี่ยนไป และในทางลึก “นายใหญ่ไม่เอาแล้ว”
ช่วงเวลาเดียวกัน “เงาะ” วรชัย เหมะ แกนนำ นปช. และอดีต ส.ส.สมุทรปราการ ประกาศจัดคาร์ม็อบ 7 สิงหา ระดมแดงปากน้ำ เคลื่อนขบวนจากอิมพีเรียล สำโรง ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
คนแถวปากน้ำพูดกันว่า “วรชัย” ลงท้องถนนเที่ยวนี้ คงไม่ได้คาดหวังที่จะให้ “ประยุทธ์ลาออก” หากแต่การขยับคาร์ม็อบ ปลุกพลังคนเสื้อแดง และสร้างแนวร่วมกับกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ จะช่วยให้กลุ่มเพื่อไทย สมุทรปราการ ไม่สูญเสียฐานมวลชนให้พรรคก้าวไกล
จังหวะก้าวของเต้น และวรชัย ไม่ต่างกัน ล้วนมีเป้าหมาย “รักษาฐานแดงรากหญ้า แสวงหาแนวร่วมสามนิ้ว” ไม่ต่างจากคลับเฮาส์ที่กลุ่มแคร์ กำลังปั้นโทนี่อยู่
หาก “โทนี่” และแกนนำ นปช.สาย “บ้านทรายทอง” นั่งงอมืองอเท้า รอลงสนามเลือกตั้ง ก็จะสูญเสียมวลชนให้พรรคก้าวไกล ถึงวันนั้น โทนี่กลับบ้านได้ ก็ไร้ประโยชน์
สรุปการกลับมาของ “เต้น” ก็คือ ยุทธการ 2 ขา ระหว่าง “คาร์ม็อบ”(เสื้อแดง) กับ “คลับเฮาส์” ของโทนี่ ก็เพื่อกดดันประยุทธ์ และฟื้นพลังเสื้อแดง รอวันยุบสภา เลือกตั้งใหม่