หลังฉาก “คณะก้าวหน้า” โยนเปิดโต๊ะเจรจา “รอยัลลิสต์”
การโยนไอเดีย “ลดเพดาน” มาสู่การ “เปิดโต๊ะเจรจา”ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะประเมินความเคลื่อนไหว “ม็อบราษฎร” มาทั้งปีแล้วพบว่า หากยังดึงดันทำแบบเดิมไม่มีทางประสบความสำเร็จ และบรรดาแกนนำ “แถว 1-2” ที่ถูกจับกุม-คุมขังในเรือนจำอาจไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา“เคลื่อนไหว”ต่อ
เป็นเวลาประมาณ 1 ปีเศษที่ “ม็อบราษฎร” ก่อตัวขึ้น จุดเริ่มต้นจากความไม่ชอบใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่ง “ยกระดับ-ดันเพดาน” ช่วงเดือน ส.ค. 2563 จากการปราศรัยของ “อานนท์ นำภา” และแกนนำรายอื่น ๆ เช่น “เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์-รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล-ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก” นำไปสู่ข้อเสนอ “ทะลุฟ้า” 10 ประการ ในการ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหวของ “ม็อบราษฎร” มีกระแสสูงแค่ในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2563 กระทั่ง “ลดระดับ” ลงไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา แม้จะมีการจัด “ม็อบ” บ่อยครั้ง แต่จำนวนคน “บางตา” ลงทุกที จนเกิด “กลยุทธ์ใหม่” คือ “กลุ่มทะลุแก๊ส” มาเพื่อ “ปั่นป่วน” ตำรวจโดยเฉพาะ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องข้อเสนอต่าง ๆ
ขณะที่ “มวลชน” เดินลงต่อสู้บนถนน “พรรคการเมือง” ที่มี “จุดยืน” เคียงข้างม็อบเสนอมา หนีไม่พ้น “พรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า” ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งหลายครั้งว่ามี “แกนนำ-ส.ส.” ของ “ค่ายสีส้ม” ลงไปร่วมชุมนุม หรือช่วยวิ่งประกันตัวให้แกนนำอยู่ตลอด
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ม็อบราษฎร” กระแสตก ส่วนหนึ่งคือยุทธศาสตร์ของ “ม็อบราษฎร” ที่เน้นทำ “แฟลชม็อบ” หรือ “ม็อบรายวัน” คือ “มาเช้า เย็นกลับ” ทำให้ประเด็นการขับเคลื่อนไม่คืบหน้า มีแต่ความ “วูบวาบ” บนโซเชียลมีเดีย ขณะที่มวลชนบางส่วน “อารมณ์ค้าง-โกรธแค้น” สร้างความรุนแรงบนท้องถนนอยู่เนือง ๆ ยิ่งทำให้ “ฝ่ายเดียวกัน” บางส่วน “เบือนหน้าหนี”
แม้จะมีการ “แก้เกม” โดย “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง และ “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่ม นปช. มาเป็น “แกนนำชั่วคราว” หวังหยั่งกระแสเรียกมวลชน ทว่าไม่สามารถเรียกกระแสได้อีกต่อไป ทำให้ทั้ง 2 คน “หลบฉาก” ออกมาต่อสู้บนโซเชียลมีเดียเหมือนเดิม
เมื่อ “ม็อบ” ขาลง “พรรคการเมือง” ที่สนับสนุนตั้งแต่ต้นเริ่ม “หลบฉาก” เห็นได้ว่าช่วงหลังแทบไม่มี ส.ส. หรือแกนนำ “ค่ายสีส้ม” รายใดเข้าไปให้การช่วยเหลือ “ในทางแจ้ง” กับกลุ่มแกนนำม็อบอีกแล้ว
ยิ่งช่วงนี้สถานการณ์ “ใกล้เลือกตั้ง” แต่ละพรรคการเมืองเริ่มทยอย “หาเสียง” เป็นหลัก “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” ก็เช่นเดียวกัน ที่มีภารกิจในสภาฯ และหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น จนไม่เหลือเวลาไปดูแลม็อบดั่ง “ไข่ในหิน” เหมือนวันวาน
ประกอบกับแกนนำ “แถว 1” ทยอยถูกจับกุม-คุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัว แกนนำ “แถว 2” ยังไม่มี “บารมี” มากพอจะคุมมวลชนได้ บางส่วนถูกทยอยจับกุมตามรอย “แถว 1” ทำให้ความเคลื่อนไหวบนท้องถนนทำได้อย่างยากลำบาก
แต่สิ่งที่เรียกว่า “ปิดประตู” ทำม็อบไปเลยคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ชี้ชัดว่าการปราศรัยของ “อานนท์-รุ้ง-ไมค์” เมื่อเดือน ส.ค. 2563 เป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งห้ามกลุ่มองค์กรลักษณะเดียวกันเคลื่อนไหวอีกต่อไปในอนาคต
จึงไม่แปลกใจนักเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า โยนไอเดียดัง ๆ หลังชำแหละคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถึง 3 กลุ่มก้อนสำคัญในสังคมไทย ได้แก่
1.ม็อบราษฎร ขอให้ “เปลี่ยนท่าที” การแสดงออก หันหน้าไปสู่ “โต๊ะเจรจา” มากยิ่งขึ้น พร้อมลั่นวาจาว่า “หากทำแบบเดิม ไม่มีทางประสบความสำเร็จ”
2.กลุ่มการเมือง และ ส.ส. ขอให้รับฟังข้อเรียกร้องของ “ม็อบราษฎร” เพื่อนำไปสู่การออกร่างกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ในสภา โดยนัยนี้อาจหมายรวมถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเรียกร้องของม็อบมาโดยตลอด
3.กลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือ “รอยัลลิสต์” ให้ “เปิดใจ” รับฟังข้อเรียกร้อง-ข้อเสนอของฝ่ายม็อบบ้าง อย่างน้อยที่สุดให้มีการเปิดโต๊ะเจรจากัน เพื่อลดแรงเสียดทาน ลักษณะ “เปิดฝากาน้ำร้อน”
ว่ากันว่า การโยนไอเดีย “ลดเพดาน” มาสู่การ “เปิดโต๊ะเจรจา”ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะประเมินความเคลื่อนไหว “ม็อบราษฎร” มาทั้งปีแล้วพบว่า หากยังดึงดันทำแบบเดิมไม่มีทางประสบความสำเร็จ และบรรดาแกนนำ “แถว 1-2” ที่ถูกจับกุม-คุมขังในเรือนจำอาจไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา“เคลื่อนไหวทางความคิด”ต่อ
สอดรับกับความเคลื่อนไหวของ “คณะก้าวหน้า” ที่ตอนนี้เดินเกม “ปักธงทางความคิด” ในพื้นที่ระดับ “ท้องถิ่น” ไม่ใช่แค่หนุ่มสาวเยาวรุ่นอย่างเดียว แต่หว่านล้อมไปถึง “ผู้ใหญ่-คนเฒ่า” รวมถึงบรรดา “คนตรงกลาง-อิกนอร์เรนซ์ (Ignorance)” รับทราบสภาพปัญหาของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ดึงมาเป็น “พวกพ้อง” ร่วมรบด้วย
สังเกตได้จากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของ “คณะก้าวหน้า” ที่ผ่านมาอาจไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ จาก “แพ้แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มาได้นายกเทศมนตรี ในการเลือกตั้งเทศบาล 16 คน หลังจากนั้นได้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถึง 38 คนในการเลือกตั้ง อบต. ที่ผ่านมา พร้อมประกาศสู้ในศึกชิงนายกเมืองพัทยา และส่งคนเลือกตั้ง อบจ.อีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้าด้วย
ดังนั้นบทเรียน “ม็อบราษฎร” ช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า “ใจเร็วด่วนได้” ไม่อาจสำเร็จในการต่อสู้ทางการเมือง แต่จำเป็นต้อง “วางรากฐาน” ให้เพียบพร้อมเสียก่อนจึงค่อยทยอยเรียกร้องข้อเสนอ “สูงเสียดฟ้า” เพิ่มเติม
อนาคตหลังจากนี้ “คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล” รวมถึง “ม็อบราษฎร”คงถึงเวลาปรับยุทธวิธีรบกันใหม่ การเคลื่อนไหวบนท้องถนนคงหยุดพักลง และอาจกลับมารบใหม่อีกครั้ง เมื่อขยายพื้นที่ทางความคิด จนม็อบจุดติดอีกครั้ง