“วิโรจน์” ชูนโยบายเปลี่ยน “ภาษีที่ดิน” หมื่นล้านเป็นสวัสดิการคน กทม.
“วิโรจน์” พร้อม “โฆษกก้าวไกล” ลงพื้นที่พบเครือข่ายผู้สูงอายุเขตบางขุนเทียน ชูนโยบายเปลี่ยนภาษีที่ดิน 1 หมื่นล้าน เป็นสวัสดิการคน กทม. ยันสังคมที่น่าอยู่ คือสังคมที่โอบอุ้มดูแลกัน
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายวิเชียร กันทาทรัพย์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางขุนเทียน และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน และโฆษกพรรคก้าวไกล เข้าร่วมรับฟังการสะท้อนปัญหาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ณ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน ซอยพระราม 2 62
นายวิโรจน์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปในชุมชนต่างๆ ของกรุงเทพฯ พบว่าผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ กำลังเป็นปัญหาของเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนรายได้ลดลง มีปัญหาสุขภาพ และต้องดูแลหลายที่เป็นเด็กเล็ก โดยในปี 2564 กรุงเทพฯ จะมีผู้สูงวัยมากกว่า 1,000,000 คน ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีฐานะการเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพ ความท้าทายของกรุงเทพฯ คือเราจะโอบอุ้มชีวิตผู้สูงอายุเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยให้มีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ถ้าตนได้มีโอกาสเข้ามาบริหาร กทม. นโยบายที่เร่งด่วนที่สุดก็คือผลักดันให้มีการเพิ่มสวัสดิการคนกรุงเทพฯ โดยจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เพิ่มเงินเลี้ยงดูเด็กเล็ก 0-6 ปี ให้ได้ทุกคนถ้วนหน้า เดือนละ 1,200 บาท และจะเพิ่มเบี้ยคนพิการให้เป็นคนละ 1,200 บาท เท่าเทียมกันถ้วนหน้า ทั้งนี้เราต้องไม่มองว่านโยบายเงินโอนเป็นการสงเคราะห์หรือเป็นภาระงบประมาณ แต่ผมอยากให้มองว่าการโอบอุ้มให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีอยู่ในเมืองแห่งนี้ได้คือหน้าที่พื้นฐานที่ผู้บริหารเมืองต้องทำ เพราะอย่าลืมว่าถ้าเราช่วยกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ คนที่จะมีชีวิตดีขึ้นไม่ใช่แค่เด็ก คนแก่ คนพิการที่ได้รับสวัสดิการ แต่มันคือการลดภาระของคนวัยแรงงานที่ต้องทำงานส่งเงินมาเลี้ยงดูคนในครอบครัวด้วย ตนอยากให้เราเปลี่ยนความคิดมองคนในสังคมเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน โดยเฉพาะเมื่อการโอบอุ้มคนเหล่านี้ไม่เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นสำหรับคนกลุ่มอื่นมากเกินไปนัก
เมื่อถามว่างบประมาณพอหรือไม่ จะใช้งบประมาณจากไหน นายวิโรจน์ บอกว่าเราสามารถเปลี่ยนรายได้ใหม่จากภาษีที่ดินที่กรุงเทพฯ จะจัดเก็บได้ในปี 2565 ประมาณ 10,000 ล้านบาท เปลี่ยนมาเป็นสวัสดิการคนกรุงเทพฯ ได้ทันที จากที่ลองคำนวณตัวเลขผู้ได้รับสวัสดิการของกรุงเทพทั้งผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ นโยบายเพิ่มสวัสดิการของเราจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเพียง 7,300 ล้านบาท/ปี ซึ่งคิดเป็นไม่เกิน 10% ของงบประมาณกรุงเทพฯ และน้อยกว่าเงินที่ กทม. สูญเสียรายได้จากการยกเว้นภาษีที่ดินให้นายทุนด้วยซ้ำ ซึ่งในปี 2565 ที่มาตรการยกเว้นภาษีที่ดินจะหมดอายุลง กรุงเทพจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทันที 10,000 ล้านบาท คำถามสำคัญของผู้ว่า กทม. คือจะจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไปให้คนกลุ่มไหน จะยกเว้นให้นายทุน ละลายไปกับระบบราชการ หรือจะเปลี่ยนเป็นสวัสดิการประชาชน นี่คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องตัดสินใจร่วมกันในการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ครั้งนี้” วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนนายณัฐชา กล่าวว่า นอกจากการการปักธงยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน กทม. ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ในการเมืองระดับชาติ ตนในฐานะผู้ผลักดันสวัสดิการถ้วนหน้าบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาท ที่ถูกสภาคว่ำไป ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยมีสวัสดิการถ้วนหน้าที่สอดคล้องกับรายจ่ายของประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย โดยนโยบายนี้จะเป็นนโยบายหลักที่พรรคใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่กำลังจะมาถึงด้วย