Phuket Smart City Innovation Park (Phuket SCIP) จ.ภูเก็ต
เยี่ยมชมศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park (Phuket SCIP) จ.ภูเก็ต เมืองนำร่องนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
หากกล่าวถึงพื้นที่นำร่องด้านนวัตกรรมในปัจจุบันนี้ต้องยกให้กับจ.ภูเก็ต เพราะนับตั้งแต่เปิดศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park (Phuket SCIP) อย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้รับกระแสตอบรับมากมายทั้งจากคนในพื้นที่ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนหน้าใหม่ ต่างมุ่งให้ความสนใจ จ.ภูเก็ตเป็นพิเศษเนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลาย อาทิ โครงข่ายสื่อสารที่ทั่วถึง รวดเร็ว และมีความเสถียร นอกจากนี้จ.ภูเก็ตยังถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 9 ของซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ของรัฐบาลซึ่งมีนัยยะสำคัญในการเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตสำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำก่อให้เกิดการรวมกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเสริมสร้างศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้น
ศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park (Phuket SCIP) ดำเนินงานโดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ที่มอบหมายนโยบายที่ต้องการให้ทุกภาคเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่และก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างบูรณาการ
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า กล่าวว่า ศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park นับเป็นการนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในเชิงพื้นที่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว โดยยึดหลักแนวคิดของมาตรฐาน IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers) ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) Smart Economy คือ
เมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างบริษัทใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล 2) Smart Environment คือเมืองที่ประหยัดพลังงาน Green building หรือการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3) Smart Governance คือเมืองที่บริหารจัดการโปร่งใส มีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ 4) Smart Living คือเมืองที่น่าอยู่ มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยสะดวกด้านการศึกษา และด้านสุขภาพอนามัย 5) Smart Mobility คือเมืองที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสะดวกสบาย มีความคล่องตัว และมีความปลอดภัย 6) Smart People คือ เมืองที่ให้ความเท่าเทียมกันในสังคม มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส คนสูงอายุ
การกำหนดให้จ.ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง เกิดจากหลายปัจจัยประกอบด้วยกัน อาทิ มีประชากรพื้นที่จำนวน378,364 คนแต่มีจำนวนนักท่องเที่ยวในปัจจุบันกว่า 14 ล้านคน คิดเป็น 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ทั้งหมด และในจำนวนนักท่องเที่ยวนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 70% ดังนั้นการจะผลักดันคลัสเตอร์ดิจิทัลจึงเหมาะที่จะดึงชาวต่างชาติที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งทั้งซอฟต์แวร์มาอาศัยและปักหลักตั้งบริษัทสาขาในเมืองไทยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันให้ภูเก็ตกลายเป็นดิจิทัลฮับ มีการสร้างกำลังคน ศูนย์ถ่ายทอดที่ทันสมัย ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะ และยังมีการเสริมแรงจูงใจทางด้านภาษี มีการแก้กฎหมาย การทำวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่อีกด้วย
ด้านนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จ.ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ มีความโดดเด่นที่หลากหลาย และมีชื่อเสียงในระดับโลกด้านการท่องเที่ยว คือมีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก จึงเหมาะที่จะเป็นแหล่งดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีเพราะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีที
สำหรับการตั้งศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park (Phuket SCIP)ของสำนักงานซิป้าจะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจตามมาอีกหลายด้านเพราะสนับสนุน Startup ผู้ประกอบการSMEs รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันนี้ถือว่ามีความพร้อมเมื่อนักลงทุนเดินเข้ามาในศูนย์จะเห็นภาพเมืองภูเก็ตเป็น 5 มิติ พร้อมกับทีมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสภาพของเมืองมีการตัดถนนตรงไหน ผลกระทบด้านต่างๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์และให้ความรู้ไปพร้อม ๆ กัน
ด้านนางสาวชัชฎา อภิชาสุทธากุล นายกสมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (TSEP) กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมมากโดยเฉพาะเครือข่าย Wi-Fi มีการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อให้บริการWi-Fi ด้วยการล็อคอินเพียงครั้งเดียว แต่สามารถใช้ได้ทั้งที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการทราบถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวว่าไปอยู่ในจุดไหนบ้าง หรือมีรูปแบบการท่องเที่ยวลักษณะไหน อาทิ มาเที่ยวเป็นครอบครัว มาทำธุรกิจและท่องเที่ยวด้วย หรือมาในลักษณะนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะต่อไป
ศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park ตั้งอยู่ ณ อาคารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สาขาภูเก็ต บริเวณสะพานหิน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์, คุณวรัชญ์นันทน์ เพชรณรงค์ โทรศัพท์ 081668 9239,094 545 5054