สนพ.ขับเคลื่อนความรู้ จัดงานสัมมนาระบบสมาร์ทกริดต่อเนื่อง
ย้ำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสร้างความแม่นยำและมั่นคง
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจภาคประชาชนต่อแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด (Smart Grid) ต่อเนื่อง โดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรปราการ ต่อจากกรุงเทพมหานคร ย้ำเทคโนโลยีพลังงานที่ก้าวหน้าสร้างระบบบริหารจัดการไฟฟ้าที่ได้ประสิทธิภาพ
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นที่จ.สมุทรปราการ (1 พฤศจิกายน 2562) ว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ภาครัฐได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2558-2579) ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าที่ได้ประสิทธิภาพในยุคปัจจุบัน
“ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยีพลังงานก็มีความก้าวหน้ามาก เช่น ปัจจุบันเราสามารถควบคุมการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน ทั้งการบริหารจัดการไฟฟ้าภายในบ้านอยู่อาศัย หรืออาคาร ห้างร้าน โรงงาน ก็จะมีระบบการบริหารจัดการพลังงานด้วยเช่นกัน สำหรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดนั้นจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการต่อยอดเรื่องเศรษฐกิจการลงทุน และเกิดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง”
ความสำคัญของระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดนั้นได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP2018) โดยกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยกำหนดไว้ในระยาว 20 ปี (พ.ศ. 2558 – 2579) โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (พ.ศ. 2558 – 2559) ระยะสั้นคือช่วงค้นคว้าทดลองทำโครงการ ( พ.ศ. 2560 – 2564) ระยะปานกลาง คือช่วงที่นำสิ่งที่วิจัยทดลองในระยะสั้นส่งไปสู่ประชาชน (พ.ศ. 2565 – 2574) และระยะยาว คือพร้อมปฏิบัติได้จริง (พ.ศ. 2575 – 2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ
“องค์ประกอบของสมาร์ทกริดมี 3 ส่วนที่สำคัญ 1. Hardware คือ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้บริหารจัดการพลังงาน เช่น พวกสมาร์ทมิเตอร์ต่าง ๆ 2.Software คือระบบปฏิบัติการที่มาบริหารจัดการพลังงาน และ 3.Peopleware คือบุคลากรที่มีความรู้ในการจัดการเทคโนโลยี ซึ่งส่วนนี้เองจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจภาคประชาชนให้มากขึ้นเพื่อในอนาคตจะสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป สิ่งที่วันนี้เราต้องเตรียมตัวคือการจัดการระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับกับโครงข่ายสมาร์ทกริดที่เข้ามา เพื่อสร้างเสถียรภาพและความแม่นยำในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ”
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรจำนวน 3 ท่าน จาก 3 การไฟฟ้าฯ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า Smart Grid โดยได้มาบรรยายให้ความรู้เรื่องทิศทาง นโยบาย และแผนงานระบบโครงข่ายไฟฟ้า ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำโดย
นายนพดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง
นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นายสวภพ ตรรกพงศ์ วิศวกรระดับ 9 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นายนพดล ประเสริฐกาญจนา
นายทรงวุฒิ ขันดี
นายสวภพ ตรรกพงศ์
การจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ หน่วยงานภาครัฐสำนักงานพลังงานจังหวัด นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครพลังงาน เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชนส่วนกลางและท้องถิ่น และมีกำหนดการครั้งถัดไปที่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบนโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต