SUSTAINABLE BUSINESS ทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ใครทราบบ้างว่า “ที่อยู่อาศัย” เป็นต้นเหตุในการก่อมลภาวะมากที่สุด คือมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของโลกทั้งใบ เป็นสัดส่วนที่มากกว่าโรงงานอุตสาหกรรม มากกว่าอาคารสำนักงาน หรือ ออฟฟิศต่างๆเสียอีก
ปัจจุบัน สภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ มันกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมากขึ้น
ล่าสุด... สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้ระบุว่าโลกของเราสิ้นสุดสภาวะโลกร้อนแล้ว และกำลังเข้าสู่สภาวะ “โลกเดือด” เราจึงได้ยิน ได้เห็นข่าวคราวเรื่องผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น และมีความถี่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ย้ำถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า คนไทยเองจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสี่ยมฑูตแห่งยุคโลกเดือด ได้แก่ น้ำท่วมใหญ่ ไฟป่าแรง แห้งแล้งจัด วิบัติคลื่นร้อน
จะเห็นได้จากข่าวสารที่นำเสนอกันอยู่เป็นประจำ พื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำเท่านั้น แต่เป็นไปได้ทุกพื้นที่ ในพื้นที่ติดทะเลหลายแห่งแทบจะไม่เหลือชายหาดอีกต่อไป
ไฟป่าและความแห้งแล้งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีฝุ่นควันขนาดเล็ก หรือฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพิ่มมากขึ้น และมีตลอดปี ทำให้มีอัตตราการเจ็บป่วยสูงขึ้น อากาศร้อนทำให้เกิดการฟักตัวของแมลงที่เป็นพาหะโรคร้ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรงได้ทุกฤดูกาล
คลื่นความร้อนหรือฮีทเวฟ (heat wave) มาบ่อยขึ้น ยาวนานขึ้น และมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ในฤดูร้อนที่ผ่านมาของปี 2566 นี้ มีบางพื้นที่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินกว่าที่มนุษย์จะใช้ชีวิตอยู่ได้แล้ว
สรุปว่า... มนุษย์จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในสองแนวทางควบคู่กันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ การปรับลดคาร์บอนเพื่อลดโลกร้อน (Mitigation) และ การปรับตัวอยู่ในโลกที่ร้อนขึ้น (Adaptation)
ยุ้ยอยากเห็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับสร้างบ้าน และแม้แต่ผู้บริโภคที่จะเป็นเจ้าของบ้านเองมีความชัดเจนและจริงจังเรื่องการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development)
สำหรับยุ้ยเองในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เริ่มทำอย่างจริงจังไประยะหนึ่งแล้ว ยุ้ยและกลุ่มเสนาฯได้มีการร่วมมือและศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการนำแบบบ้านที่ได้มาจากการไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่า “บ้านพลังงานเป็นศูนย์” (Zero Energy Housing หรือ ZEH) มาพัฒนาให้เหมาะกับประเทศไทย
ซึ่งผลวิจัยและการประเมินผลจากทางจุฬาฯพบว่า สามารถลดการใช้พลังงานได้สูงสุด 38% คือใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 14% รวมกับพลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ที่เราติดตั้งให้บนหลังคาทำให้ผลิตไฟฟ้าได้เองประมาณ 360 หน่วยต่อเดือน
รวมกันแล้วจึงคิดเป็น 38% หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 1,627 บาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 163 ต้น
ซึ่งทางเสนาฯก็จะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ใกล้เคียงศูนย์ที่สุด
เรายังนำแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” หรือ สมาร์ทซิตี้ (smart city) มาพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ชีวิตแบบส่งต่อความยั่งยืนอย่างดีที่สุด ได้แก่ การเลือกใช้วัสดุต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์
การใช้โซลาร์เซลล์ทั้งที่บ้านและพื้นที่ส่วนกลาง การติดตั้งจุดชาร์จไฟสำหรับรถไฟฟ้าหรืออีวี การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น การหาตำแหน่งที่จอดรถ (smart parking) ไม่ต้องวนเวียนให้สิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
หรือ การให้ข้อมูลและช่วยวางแผนการเดินทาง จองและเรียกบริการรถชัทเทิ่ล (shuttle service) ไปรับ-ส่งที่สถานีรถสาธารณะเพื่อลดความถี่ในการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง (smart mobility) เป็นต้น
ยุ้ยมั่นใจว่า หากเราร่วมกันสร้างแนวทางการใช้ชีวิตที่นำเอาเทคโนโลยีที่พอเหมาะและพอดีมาใช้ ก็จะช่วยทั้งในเรื่องการประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีรายได้ที่พอเพียงยิ่งขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งกายและใจ และยังมีวิถีชีวิตที่มีส่วนร่วมในการลดมลภาวะ ลดคาร์บอน
เป็นการร่วมกันสร้างวิถีชีวิตเพื่อลดคาร์บอน (decarbonized lifestyle) และร่วมกันสร้าง “เมืองน่าอยู่” ด้วยกัน ไม่ต้องถึงขั้นอัจฉริยะที่ทำยากและต้นทุนสูงก็ได้ ขอเป็นแค่ “เมืองอัจฉริยะแบบพอดี” (smart enough city) อย่างเป็นรูปธรรมก็เพียงพอแล้ว
ร่วมกันขับเคลื่อน “ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” (sustainable business) ไปด้วยกันเถอะค่ะ.