ให้ต่างชาติมาอยู่ไทยเยอะๆ นี่ดีใช่ไหม | โสภณ พรโชคชัย
มักมีคำกล่าวอ้างว่า ถ้าให้ต่างชาติมาอยู่ในไทยมากมาย จะทำให้ประเทศชาติเจริญขึ้น มันจริงหรือไม่ แม้แต่อดีตนายกฯ ดร.ทักษิณ ก็ยังเชียร์ในเรื่องนี้ มาวิเคราะห์ให้ชัดเจนถึงแก่นกัน
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติที่ปรากฏใน Wikipedia ปี 2562 พบว่าประเทศทั่วโลกมีคนต่างชาติไปอยู่ประมาณ 3.5% หรือราว 271,642,105 ล้านคน มาดูประเทศเหล่านี้มีคนต่างชาติไปอยู่มากมายเกิน 30% ของประชากรของตนเอง (ตารางประกอบ)
จะเห็นได้ว่าประเทศเกือบทั้งหมดที่มีประชากรต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เพราะมาขายแรงงานเป็นสำคัญ และบางส่วนอาจมีการรับผู้อพยพเข้าไปอยู่บ้าง ทั้งนี้ยังมีประเทศยุโรปตะวันตกที่รับผู้อพยพเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และกลุ่มสแกนดิเนเวีย เป็นต้น
อย่างในกรณีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะพบว่าประชากรจำนวนมากมาจากต่างประเทศโดยในจำนวนประชากรทั้งหมด 13,149,612 คน เกือบ 90% เป็นชาวต่างชาติ
โดยอินเดียมีจำนวนประชากรเป็นอันดับหนึ่งถึง 4.75 ล้านคน หรือ 37.96% ของทั้งหมด รองลงมาก็คือปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อิหร่าน อียิปต์และเนปาล
หากเจาะลึกเฉพาะในสิงคโปร์จะพบว่า ประชากรของประเทศที่ไปอยู่มากที่สุดก็คือฟิลิปปินส์ รองลงมาคือจีนและอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านต่างมาขายแรงงานในสิงคโปร์ ณ สิ้นปี 2566
หากพิจารณารายได้ประชาชาติต่อหัว(GDP per capita) ของชาวสิงคโปร์จะพบว่ามีรายได้สูงถึง 88,953 ดอลลาร์ต่อคน ในขณะที่ไทยมีรายได้เพียง 7,362 ดอลลาร์ แสดงว่ารายได้ต่อหัวของสิงคโปร์มีขนาดเป็น 12 เท่าของไทย
สัดส่วนนี้ถ่างห่างออกไปมากเพราะเมื่อราว 20 ปีก่อน รายได้ต่อหัวของสิงคโปร์มีขนาดเพียง 5 เท่าของไทยเท่านั้น
ในทางตรงกันข้ามก็มีประเทศที่มีประชากรต่างชาติในสัดส่วนที่น้อยมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็น่าศึกษาดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ประเทศที่ไม่ค่อยมีไปใครอยู่อาศัย มีสัดส่วนของผู้อพยพเข้าไปอยู่น้อยมาก ได้แก่ “จีน”
จีนมีสัดส่วนประชากรเพียง 0.1% รองลงมาก็คืออินโดนีเซีย เมียนมาและเวียดนาม ประเทศเหล่านี้อาจไม่ต้อนรับชาวต่างชาตินัก เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และเกาหลีเหนือ ส่วนบางประเทศก็มีปัญหาทางการเมือง เช่น เกาหลีเหนือ เมียนมา เป็นต้น
จีนเป็นประเทศที่มีประชากรอพยพไปอยู่ประเทศอื่นมากที่สุดก็ว่าได้ แต่กลับมีชาวต่างประเทศไปอยู่จีนในสัดส่วนที่น้อย
บางท่านอาจแย้งว่าจีนมีประชากรต่างชาติถึง 1,030,871 ล้านคน แต่ก็ติดอันดับที่ 53 ก็ไม่น้อยใช่หรือไม่ หากนับตามจำนวนประชากรต่างชาติ ก็ยังน้อยกว่าไทยที่มีประชากรต่างชาติถึง 3,635,085 คน ยิ่งกว่านั้นฮ่องกง ก็มีประชากรต่างชาติมากกว่าจีนหลายเท่าตัว คือมีถึง 2,942,254 คน ส่วนสิงคโปร์ก็มีประชากรต่างชาติ 2,155,653 คน
ในกรณีประเทศไทย ตามข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เกี่ยวกับสถิติจำนวนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ณ เดือน ก.ค.2567 พบว่าเป็นแรงงานเมียนมา กัมพูชาและลาวเป็นหลัก
กลุ่มที่เป็นแรงงานมีทักษะมีอยู่เพียง 182,082 คน โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 56,143 คน ที่เหลือ 125,939 คน เป็นกลุ่มทั่วไป
ดังนั้น โอกาสที่จะคิดให้มีการมาอยู่อาศัยในไทยนับล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นแค่ “ความฝัน” ที่ไม่เป็นจริงเท่านั้น มีไว้เพื่ออ้างโดยหวังให้ต่างชาติมาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยให้ได้
อย่างกรณี Golden Visa ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ปรากฏว่ามีผู้ได้รับถึง 158,000 รายในปี 2566 ส่วนในปี 2565 ได้รับ 79,617 รายและ ปี 2564 ได้รับ 47,150 คน รวม 5 ปีคงได้รับไม่เกิน 330,000 คน
แต่โอกาสที่ไทยจะมีคนเข้ามาเป็นล้านคนใน 5 ปี จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และการอยู่อาศัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เป็นการอยู่ทำธุรกิจเป็นสำคัญ เพราะขณะนี้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจในภูมิภาคไปเสียแล้ว
ในปัจจุบันคาดว่ามีคนจีนจากประเทศจีนเข้ามาอยู่ในไทยไม่เกิน 200,000 คน โดยในปี 2565 มีราว 110,000 คนและน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
คนเหล่านี้คงไม่เหมือนคนจีนเมื่อเกือบร้อยปีก่อนที่อพยพเข้ามาแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่มาแบบนายทุนและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลให้ออกมาทำกินนอกประเทศ
คนเหล่านี้อาจมีอิทธิพลทางการเงินและทางการเมืองในประเทศไทยได้ในอนาคต โดยดูจากกรณี “ตู้ห่าว” ที่ซื้อบ้านในโครงการจัดสรรเป็นจำนวนมาก
โอกาสที่ต่างชาติมาอยู่ในไทยก็อาจไม่ได้ใช้แรงงานไทย อย่างจีนก็อาจขนแรงงานมาจากประเทศของตนเอง รัสเซียก็ขนช่างทำผมและแอปเรียกแท็กซี่ของตนเอง (ที่ภูเก็ต)
คนต่างชาติเหล่านี้อาจไม่ได้ใช้แรงงานไทย อาจว่าจ้าง “คนใช้” จากแรงงานเมียนมา ลาวและกัมพูชา ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แถมจีนเทาๆ ก็อาจก่ออาชญากรรมต่างๆ ครอบงำข้าราชการได้ ทำให้มีอิทธิพลทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
การให้ต่างชาติมาอยู่ไทยจึงไม่ใช่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
คอลัมน์ อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
www.area.co.th