เห็นชอบ “ยาไวรัสตับอักเสบซี-ตับอักเสบบีดื้อยา” เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
คกก.พัฒนาระบบยาฯ เห็นชอบปรับปรุง “ยาไวรัสตับอักเสบซี-ตับอักเสบบีดื้อยา” เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ช่วยคนไทยเข้าถึงยามากขึ้น ราคายาไม่แพง-ผลิตได้ในประเทศ-รักษาหายขาด พร้อมปรับราคากลางยาให้สอดคล้องสถานการณ์ หลังบางตัวขึ้นราคาช่วงโควิด19
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติว่า คณะกรรมการฯเห็นชอบ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ แทนชุดเดิมที่หมดวาระรวม 7 คณะ อาทิ อนุกรรมการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ อนุกรรมการการใช้ยาสมเหตุผล อนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ อนุกรรมการด้านบัญชียาหลักด้านสมุนไพน อนุกรรมการด้านวัคซีน และอนุกรรมการด้านอุตสาหกรรมยา เคมีชีววัตถุ เป็นต้น 2.ประกาศคณะกรรมการฯเรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ และ3.ประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดราคากลางยา
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาฯอย. กล่าวว่า ในส่วนของรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ จากเดิมปี 2564 มี 904 รายการ มีการปรับเพิ่ม 19 รายการ ถอนออก 7 รายการ และมียาใหม่และ ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียด 63 รายการ ในปี 2565 จึงมีรายการบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 916 รายการ ที่เด่นๆ คือ ยาไวรัสตับอักเสบบี และอักเสบซี โดยเฉพาะยาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นยารักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ที่ทำให้เป็นมะเร็งตับในประเทศไทย ยาตัวนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ให้สิทธิประโยชน์ตรงนี้และองค์การเภสัชกรรม(อภ.)สามารถผลิตได้เอง จะทำให้ราคายาไม่แพง ผลิตได้ในประเทศไทย คนเข้าถึงยาได้และรักษาหายขาด โดยเดิมไวรัสตับอักเสบซีทำให้ตับอักเสบเรื้อรังและเป็นมะเร็งตับได้
“ยาตัวนี้เป็นการปรับปรุงให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งเดิมเป็นยาราคาแพง คนจะเข้าถึงได้ยาก จึงต้องมีการคัดกรองหลายขั้นตอนใช้แพทย์เฉพาะทาง จึงปรับปรุงให้แพทย์อายุรกรรมทั่วไปสามารถวินิจฉัยและให้ยาได้ ยาจึงเข้าถึงทั่วถึงได้ง่ายขึ้น ส่วนยาไวรัสตับอักเสบบีก็เปลี่ยนจากยาตัวเดิมที่ดื้อเป็นยาตัวใหม่ที่ไม่มีการดื้อต่อไวรัส ทำให้คนเข้าถึงยารักษาได้ ลดการเป็นมะเร็งตับ”นพ.สุรโชคกล่าว
นพ.สุรโชค กล่าวด้วยว่า ส่วนรายการราคากลาง มีการปรับปรุง155 รายการ เพิ่มขึ้นใหม่ 145 รายการและมีการแก้ไขชั่วคราวในช่วงโควิด19 ซึ่งยาบางตัวขึ้นราคา ทำให้ราคากลางเดิมที่กำหนดไว้ไม่สามารถจัดซื้อได้ ก็จะมีการปรับราคากลางให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้สามารจัดซื้อได้ อย่างเช่น ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว รักษาคนที่มีปัญหาเม็ดเลือดขาวต่ำตอนให้ยาเคมีบำบัด และมีการปรับปรุงราคากลางยาที่มีการแข่งขันสูง เพื่อให้คนเข้าถึงยาได้มากขึ้น เนื่องจากยาบางตัวปรับราคาขึ้นเกินราคากลางที่กำหนดไว้เดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน เห็นชอบยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 - 2573 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 – 2567 โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ซึ่งเป็นปัญหาทางการแพทย์สาธารณสุขระดับโลก องค์การอนามัยโลก(WHO)คาดประมาณว่าใน พ.ศ. 2562 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี 296 ล้านคน ขณะที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 58 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย พบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ประมาณ 2.2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 3.6 แสนคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งใน พ.ศ. 2563 ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ โดยพบมากในเพศชาย จึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา กำหนดทิศทาง และนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างและพัฒนารูปแบบ การดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้ได้ภายใน พ.ศ. 2573