เช็ก สัญญาณเตือนเด็กมีความคิดทำร้ายตัวเอง ลดปัญหาการฆ่าตัวตาย

เช็ก สัญญาณเตือนเด็กมีความคิดทำร้ายตัวเอง  ลดปัญหาการฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิตแนะคนใกล้ชิดจับสัญญาณเด็กเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต ช่วยป้องกันเหตุสูญเสีย มีทักษะการฟังที่ดี อย่าใช้อคติตัดสินเด็กว่าไม่ดี  ต้องสร้างความเป็นกันเองให้เด็กไว้วางใจ-บอกเล่าปัญหา

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  ช่วงนี้เป็นช่วงของการเปิดเทอม ซึ่งหลังจากปิดเทอมมายาวนานทำให้มีข้อสังเกตว่า เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เด็กที่มีความเปราะบางอยู่เดิมก็จะปรับตัวได้ยากขึ้นมากเพราะเดิมทีแม้จะปรับตัวได้ยาก มีปัญหาความสัมพันธ์หรือปัญหาการเรียน แต่การอยู่ในบรรยากาศการเรียนที่ต่อเนื่องก็จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ แต่การหยุดเรียนสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป และอยู่ในที่ที่ไม่ต้องพยายามปรับตัวมากเหมือนในอดีต และทักษะสังคมต่างๆ ก็มีโอกาสหดหายลงไป และความขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเปิดเทอมก็มีโอกาสปรากฏตัวปัญหาต่างๆ มากขึ้น เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจกันมากขึ้น ครูอาจต้องทำงานหนักขึ้น เพิ่มความละเอียดอ่อนในการสังเกตลูกศิษย์ตัวเอง

"เด็กที่เคยมีปัญหาแต่เดิม มีความสุ่มเสี่ยงแต่เดิม กลับมาเปิดเทอมครั้งนี้กำลังเผชิญกับความยุ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า อาจต้องการความใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ ต้องการการดูแล หรือการเปิดช่องทางต่างๆ ให้เด็กเข้าถึงครู บอกเล่าปัญหาได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองก็เช่นกัน หากมีลูกที่เปราะบาง โยเยไม่อยากไปโรงเรียน มีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อน ไม่ลงตัวด้านการเรียน หรือถูกซ้ำเติมด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว ขอให้กำลังใจพ่อแม่ในการใกล้ชิดลูกมากขึ้น รับฟัง และทำความเข้าใจ หากมีข้อสงสัยมีปัญหาอาจจะต้องขอความช่วยเหลือคำแนะนำจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต" พญ.อัมพรกล่าว

    พญ.อัมพร  กล่าวด้วยว่า กรมมองเห็นสถานการณ์ที่ดูมีความเข้มข้นรุนแรงขึ้น เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ได้เร่งทำความร่วมมือกับเครือข่ายมากขึ้น ทั้งโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ก็ร่วมมือกัน เพื่อให้ช่องทางการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กเกิดมากขึ้น กว้างขวางขึ้น สนับสนุนฝึกอบรมคนทำงานเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นมีทักษะเข้าใจเด็กและรับฟังเด็ก ให้คำแนะนำปรึกษาแก่เด็กได้ดีขึ้น และเปิดช่องทางการรักษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีจิตแพทย์กระจายทั่วประเทศ มีทีมสุขภาพจิตทุกจังหวัด เราเพิ่มบริการโดยเด็กมาเจอได้ด้วยตัวเอง ใช้ระบบการแพทย์ทางไกลดูแลเด็กในสถานที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ใช้การปรึกษาออนไลน์ ทางโทรศัพท์ได้ด้วย

     พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า  การสังเกตเด็กที่เริ่มมีปัญหานั้น ในความเป็นจริงทุกคนอยากทำหน้าที่ มีบทบาทที่ดีในสายตาทุกคน แต่คนไหนที่ทำไม่ได้ เช่น เรียนหนังสือไม่ได้ เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเด็กที่เรียนดีก็ต้องให้ความใส่ใจ , เด็กที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ไม่ว่าจะไปบูลลีคนอื่น หรือถูกบูลลีก็สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตที่มีในใจเช่นกัน หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวในครอบครัว อาจสะท้อนเรื่องการขัดแย้งกับเพื่อน เรียนหนังสือไม่ดี หรือไม่ทำตามกฎเกณฑ์ มีปัญหากับครู ถ้าสังเกตเด็กจะบอกได้ว่าคนไหนเป็นเด็กเปราะบางและต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพียงแต่บางครั้งความไม่รู้  ไม่เข้าใจ หรืออคติปะปน เด็กอาจถูกตัดสินว่าเหลวไหล ไม่ตั้งใจเรียน ไม่รักดี ขี้เกียจ หรือไม่รู้จักปรับตัวกับเพื่อน ไม่มีน้ำใจ ไม่เสียสละ ไม่ช่วยเหลือคนอื่น

      "ทุกๆ พฤติกรรมแปลกแยก รวมถึงความก้าวร้าว เกเร เป็นสัญญาณแรกๆ ว่าเด็กเหล่านี้มีปัญหาในการปรับตัว แต่หากไปตัดสินด้วยอคติว่าเป็นเด็กไม่น่ารัก นิสัยไม่ดี ซึ่งครูสามารถช่วยได้มาก  หากครูสังเกตเห็น สร้างความเป็นกันเองให้เด็กไว้วางใจและบอกเล่าปัญหา โดยครูมีทักษะการฟังที่ดี จนสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นแต่ละปีมีมาก และบางคนครูสามารถเข้าถึงปัญหาลึกๆ เช่น เด็กเจ็บป่วยโรคซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือมีปัญหาครอบครัวที่รุนแรง มีครูเข้าไปช่วยเหลือเรื่องราวเหล่านี้โดยตรงและส่งต่อมาให้ทีมสุขภาพจิตมาก" พญ.อัมพรกล่าว

 

สัญญาณเตือนว่าเด็กมีความคิดฆ่าตัวตาย      

พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า สัญญาณเตือนว่าเด็กมีความคิดฆ่าตัวตาย คือ การเตรียมการของคนๆ นั้น อาจรวมถึง

  • การพูดถึงความตาย ความคิดความประสงค์อยากตายบ่อยๆ
  • มีการมอบของรักของหวงตัวเองให้คนอื่น อาจฝากให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้หากตัวเองไม่อยู่ต่อไปในโลกนี้แล้ว
  • ค้นหาข้อมูลวิธีการตาย หรือใส่ใจสนใจข่าวการตายของคนอื่นๆ มากเป็นพิเศษ
  • เตรียมอุปกรณ์ อาวุธ ยา

ซึ่งคนใกล้ตัวเมื่อมาทบทวนหลังสูญเสียมักบอกว่ามีจุดสังเกตเหล่านี้ แต่บางครั้งเขาก็เผลอมองข้ามไปไม่ทันได้คิด บางคนอาจรู้สึกแวบขึ้นมาแล้วกลบความรู้สึกนั้นไปด้วยความกลัว เพราะไม่รู้จะจัดการเหตุการณ์นั้นอย่างไร ซึ่งหากเห็นสัญญาณเตือน วิธีที่ดีที่สุดคือพยายามสื่อสารพูดคุยกับคนๆ นั้น เปิดโอกาสให้เขาบอกเล่าความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเอง หากมีความชัดเจนหรือแนวโน้มว่ามีความคิดฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือ ควรจะจูงใจหรือชักชวนกันไปขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้