เตือนประชาชนระวังป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
วันนี้ (11 มกราคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เป็นสาเหตุให้ประชาชนเสี่ยงเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายของปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 3,551 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ (3,524 ราย)
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก โดยลักษณะอาการคือ มีไข้ ออกผื่นและมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา หากประชาชน มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยการทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ถาดรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย สำหรับประชาชนที่มีข้องสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422