มมส ถูกจัดอันดับเป็นที่ 1 ด้าน Quality Education ของมหา'ลัยไทยในระดับโลก
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถูกจัดอันดับของ THE University Impact Rankings 2019 โดยชื่อของ Mahasarakham University ติดอันดับ 1 ด้าน Quality Education มหาวิทยาลัยไทยในการจัดอันดับโลกของ Times Higher Education University Impact Rankings 2019
สำหรับผลการจัดอันดับ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยต่อเด็กก่อนวัยเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การวิจัยการเรียนการสอน และความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ ชาติชนะยืนยง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ติดอันดับ 1 ตัวบ่งชี้ SDG 4 : การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) ด้วย 64.0 คะแนน และมีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับด้านนี้ทั้งสิ้น 6 แห่ง
จากการจัดอันดับโลก Times Higher Education University Impact Rankings เรื่องตารางประสิทธิภาพ ที่ประเมินมหาวิทยาลัยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ซึ่งใช้ตัวบ่งชี้อย่างละเอียดเพื่อให้การเปรียบเทียบเป็นไปอย่างครอบคลุม และมีความสมดุลใน 3 ด้านกว้างๆ ได้แก่ งานวิจัย (Research), การเผยแพร่ (Outreach) และการให้บริการหรือการดูแล (Stewardship) จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนทั้งหมด 17 ด้าน ของสหประชาชาติ นั้น THE ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยเพียง 11 ด้านเท่านั้นในการจัดอันดับ Times Higher Education University Impact Rankings เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 นี้
นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติยังได้กล่าวถึงนิยามและข้อมูลของการศึกษาที่เท่าเทียมว่า.."รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน ตั้งแต่ปี 2543 มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายเรื่องของผู้ที่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา อัตราการลงทะเบียนเรียนรวมในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91 ในปี 2558 และจำนวนของเด็กทั่วโลกที่ไม่ได้รับการศึกษาลดลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ อัตราผู้ที่มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ยังเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียนมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยม
การประสบความสำเร็จครอบคลุมถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งตอกย้ำความเชื่อที่พิสูจน์แล้วว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายนี้ทำให้แน่ใจว่าเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทุกคนจะได้รับสำเร็จศึกษาฟรีในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพในราคาที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมกัน และขจัดความไม่เสมอภาคทางเพศและความเหลื่อมล้ำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะประสบผลสำเร็จในการเข้าถึงหลักสากลเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้นอย่างมีคุณภาพ"
ที่มา ผลการจัดอันดับ
https://www.timeshighereducation.com/rankings/impact/2019/quality-education#!/page/0/length/25/sort_by/rank/sort_order/asc/cols/undefined